รัฐบาล คสช.ที่ปกครองประเทศด้วยอำนาจเด็ดขาดมากว่า 5 ปี และยังสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน ชอบอ้างว่ามีผลงานยอดเยี่ยม คือการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่เมื่อเร็วๆนี้ ยังมีการลอบวางระเบิดป่วน กทม. โยงใยไปถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการโจรกรรมปล้นทองรายใหญ่
เหตุการณ์ที่ร้านทองในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คนร้ายที่เชื่อว่าอาจมีถึง 20 คน กวาดทองคำและเครื่องเพชรเกือบเกลี้ยงร้าน 2,400 บาท รวมเป็นมูลค่า 85 ล้านบาท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง หมายความว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้ เช่นเดียวกับระเบิดป่วน กทม.
ช่วงเวลาเดียวกันยังมีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารอิงคยุธบริหาร จังหวัดยะลา หลังจากหมดสติและถูกนำส่งโรงพยาบาล มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน ให้รัฐบาลตรวจสอบทำความจริงให้ปรากฏ เพราะสงสัยว่าถูกซ้อมทรมานหรือไม่
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าผลการตรวจร่างกาย นายอับดุลเลาะห์ที่โรงพยาบาล 3 แห่ง พบว่าร่างกายผู้ตายเป็นปกติ ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้าย แต่นายอับดุลเลาะห์เสียชีวิตเนื่องจากปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง ขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายกระทำการรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย
แต่ยังมีหลายฝ่ายสงสัยในคำชี้แจงของรัฐบาล นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า กสม. ได้รับคำร้องเรียนกล่าวหาว่า ถูกทำร้ายหรือซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัว คล้ายกับกรณีนายอับดุลเลาะห์ ถึง 100 คำร้อง และ กสม. เคยมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่ากฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า 15 ปี มีผลดับไฟใต้ได้จริงหรือมีแต่ก่อความแตกแยกในสังคมกฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายทหาร ที่จะกระทำการใดๆโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง หรือวินัย
...
มีผู้เสนอการดับไฟใต้ด้วยนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ที่พูดกันมานาน แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง เพราะส่วนใหญ่ประเทศไทยมักจะถูกปกครองด้วยรัฐบาล ทหาร ในปัจจุบัน กอ.รมน. ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือหน่วยงานอื่นๆของรัฐ มีผู้เสนอว่า การเมืองนำการทหารยังไม่พอ ต้อง “ยุติธรรมนำการเมือง”.