ก็สลับกันไปเรื่อยๆ ระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจกับบันทึกการเดินทางไปสแกนดิเนเวียของผมซึ่งยังไม่จบ

เมื่อวานเขียนถึงสงครามการค้า “จีน-สหรัฐฯ” ระลอกใหม่ ซึ่งหลายๆฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกปีหน้าถดถอยแน่ๆ ไปพอไม่ให้ตกข่าวใหญ่ระดับโลกเรียบร้อยแล้ว วันนี้ขอกลับไปเขียนถึงการเดินทางเมื่อต้นเดือนของผมตามเดิม

จาก ฟินแลนด์ ผมบินต่อไป เดนมาร์ก ครับ เพื่อไปศึกษาดูงานในเรื่องพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น เดนมาร์กเป็นประเทศที่ใช้พลังงานสะอาดสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองก็แต่สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสเท่านั้น

ก่อนที่จะว่ากันถึงเรื่องพลังงาน เรามาทบทวนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก ประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยมาเป็นเวลายาวนาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริค ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก พร้อมพระราชินีเสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา

ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จไปเปิดฟาร์มโคนมและโรงงานผลิตนมวัวที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 16 มกราคมของปีดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มของ ฟาร์มโคนม-ไทยเดนมาร์ค ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และต่อมาก็มีการจัดตั้งฟาร์มโคนมแห่งนี้ขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจ เรียกกันว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ผู้ผลิตนมตรา “วัวแดง” ที่คนไทยรู้จักอย่างดียิ่งในปัจจุบันนี้

ทุกวันนี้เมื่อนึกถึงเดนมาร์กคนไทยก็มักจะนึกถึง “วัวนม” มากกว่าอะไรทั้งหมด แม้แต่ฉายาของประเทศเดนมาร์กในการแข่งขันฟุตบอลยุโรป สื่อมวลชนไทยก็จะตั้งฉายาให้ว่า “นักเตะแดนโคนม”

แต่ถ้าเราไปดูว่าโครงสร้าง GDP ของเดนมาร์กปัจจุบันประกอบด้วยอะไรบ้างจะรู้สึกแปลกใจว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเดนมาร์กได้มีการพัฒนากระจายฐานการผลิตและรายได้ไปสู่สาขาอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ

...

ในปี 2017 ที่ผ่านมารายได้จาก สาขาบริการ เป็นรายได้สูงสุดถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP โดยมีสาขาอุตสาหกรรมรองลงมาอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ทางด้านการเกษตรเหลือเพียงไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่เขาส่งออกในขณะนี้ก็มีทั้งผลิตภัณฑ์จากเคมีภัณฑ์ต่างๆ มีเครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องจักร เครื่องกล สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และล่าสุดมาแรงมากก็คือเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตกระแสไฟฟ้าจาก “พลังลม” นั่นเอง

มาถึงตรงนี้เราก็มาคุยกันถึงเรื่องนโยบายด้านพลังงานของเขาได้ละ เพราะพลังงานจากลมนี่แหละที่เป็นจุดเด่นของเดนมาร์กในปัจจุบัน

รัฐบาลเดนมาร์กได้ประกาศเป็นนโยบายไว้ตั้งแต่ ค.ศ.2012 ว่าเขาจะใช้พลังงานสะอาดให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดในปี ค.ศ.2030

โดยจะให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ คือ ปราศจากการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลและถ่านหินโดยสิ้นเชิงใน ค.ศ.2050 หรือจากนี้ไปอีก 31 ปี

นับเป็นนโยบายที่กล้าหาญมาก และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่ด้วยความร่วมมืออย่างแข่งขันระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้เดนมาร์กเดินหน้ามาได้ไกลพอสมควร

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังสะอาดต่อพลังงานทั้งหมดอยู่ที่ 32.8 เปอร์เซ็นต์ เข้าใกล้เป้าหมาย 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 ไปทุกขณะ

ถ้ามองเฉพาะในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าตัวเลขล่าสุดยืนยันได้ว่ามาจากพลังงานหมุนเวียนถึง 72 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขามาจาก “พลังลม” ซึ่งเป็นจุดเด่นของเดนมาร์กในปัจจุบันอย่างที่ผมเกริ่นไว้

ไปไหนมาไหนเราจะเห็นเสา “กังหันลมปั่นไฟฟ้า” ตั้งตระหง่านเป็นทิวแถว...ทั้งในทุ่งนาและในทะเล

ตัวเลขเมื่อปี 2017 ระบุว่าทั่วประเทศเดนมาร์กขณะนี้มีเสากังหันลมปั่นไฟรวมทั้งสิ้นถึง 14,777 เสา โดยจะอยู่บนบก 9,597 เสา และอยู่ในทะเล 5,180 เสา

นี่แหละที่ทำให้ผมต้องตั้งข้อสังเกตไว้ในหัวเรื่องของผมวันนี้ว่าเดนมาร์กยุคนี้ทำท่าจะไม่ใช่ “ดินแดนโคนม” แล้วละ แต่เป็นดินแดนกังหันลมผลิตไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆว่า “กังหันปั่นไฟฟ้า” เสียมากกว่า

เพราะไม่ว่าจะไปไหนมาไหนเจอแต่กังหันลมปั่นไฟฟ้าเต็มไปหมดทั้งประเทศอย่างที่ว่า..นานๆจะเจอฟาร์มโคนมซะทีนึง.

“ซูม”