ผมยังมีเรื่องราวและสาระอีกหลายๆประเด็นจากการไปดูงานเรื่องพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดที่ฟินแลนด์กับเดนมาร์ก เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นในบ้านเราก็จะหยุดพักเอาไว้ชั่วขณะ

วันนี้ขออนุญาตหยุดอีกวันละครับ เพราะมีข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะนำมากราบเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบไว้

เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของโลกและของมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องเดียวกับที่ผมไปดูงานกับ ปตท.มานี่แหละ แต่เป็นคนละมุม

นั่นก็คือความห่วงใยในภาวะเสื่อมโทรมของโลกเราที่เกิดขึ้น จากภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย ทำให้ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง ร้อนขึ้นกว่าเดิม หนาวลงกว่าเดิม ทำให้แล้งบ่อยแล้งนาน หรือหากมีน้ำท่วมก็จะท่วมหนักและนานเช่นกัน

ถ้าปล่อยไปเช่นนี้เรื่อยๆ ทุกอย่างก็จะรุนแรงขึ้นและที่สุดของที่สุดโลกในอนาคตอาจจะกลายเป็นธุลีไปทั้งใบก็ได้ใครจะรู้?

จึงเป็นที่มาของข้อตกลงที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อนด้วยการหันมาใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดที่ผมเพิ่งไปดูงานเมื่อต้นเดือน

ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ควบคู่กันไปที่หลายๆประเทศกำลังปฏิบัติ และประเทศไทยของเราก็เริ่มตื่นตัวกันบ้างแล้ว

ได้แก่แนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy นั่นแหละครับ

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ก็คือเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าและวัสดุภัณฑ์ต่างๆอย่าง “ถนอม” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมายถึงในการผลิตสินค้าขึ้นมาแต่ละชิ้น จะต้องคิดไปด้วยว่าเมื่อสินค้านั้นหมดอายุแล้ว มันจะกลายเป็นอะไร? จะกลับเอามาใช้ใหม่ได้ไหม? เอามาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตใหม่ได้ไหม?

...

คำตอบก็คือจะต้องหาทางเอามาใช้ใหม่ให้ได้ อย่าปล่อยให้มันกลายเป็นขยะเด็ดขาด เพราะขยะสมัยใหม่จะเป็นขยะอุตสาหกรรมที่ทำลายยาก บางอย่างจะอยู่กับโลกไปเป็นร้อยๆปี ดังเช่นขยะพลาสติก ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ขณะนี้ เป็นต้น

แนวความคิดในการผลิตสินค้าแบบนำกลับมาใช้แล้วใช้อีก...ใช้วัตถุดิบอะไรก็ตาม จะไม่ใช้แค่ครั้งเดียว แต่จะนำกลับมาใช้แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวงจรไม่รู้จบ จึงเกิดขึ้นทั่วโลก

ผู้ผลิตในบ้านเราเริ่มหันมาผลิตสินค้าในลักษณะนี้กันมากขึ้น และหนึ่งในบริษัทนำร่องก็คือ SCG หรือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย นั่นเอง

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา SCG ได้มอบหมายให้หน่วยวิจัยของบริษัท วิจัยหาลู่ทางของการผลิตในระบบหมุนเวียนมาโดยตลอด

รวมทั้งเป็นโต้โผหรือเจ้าภาพในการจัดสัมมนา เพื่อหาความรู้และเผยแพร่ความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกับพันธมิตร กับภาครัฐบาล ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอ มาทุกปี

ปีนี้เป็นปีที่ 10 พอดี SCG จะจัดสัมมนาใหญ่ระดับซิมโปเซียมในหัวข้อ “Circular Economy : Collaboration for Action” ซึ่งแปลตรงๆตัวว่า การร่วมมือกันเพื่อนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่ภาคปฏิบัตินั่นแหละครับ

โดยจะจัดขึ้นที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 วันนี้ (จันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2562) ตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป

จะเป็นการระดมสมองครั้งใหญ่ เพื่อให้ได้บทสรุปสำหรับการนำไปสู่การปฏิบัติ (อย่างจริงจัง) สำหรับประเทศไทยเรา

ผู้ที่จะมาสรุปผลการสัมมนา และเสนอให้รัฐบาลนำไปดำเนินการต่อก็คือ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ส่วนตัวแทนภาครัฐบาลที่จะมารับบทสรุป และจะช่วยกล่าวปิดสัมมนาให้ด้วยก็คือ หัวหน้ารัฐบาล หรือท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยืนยันมั่นเหมาะว่าจะมาแน่นอน

หวังว่าจบสัมมนานี้แล้ว การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบ้านเราจะเข้าสู่ระบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” มากขึ้น...ใช้วัตถุดิบอย่างถนอมมากขึ้น สามารถนำไปผลิตใหม่ใช้ใหม่ได้มากขึ้น ฯลฯ

อันจะเป็นผลให้อายุของโลกยืนยาวขึ้น อยู่ไปได้ถึงกัปกัลป์ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะต้องแตกสลายไปก่อนเวลาอันสมควร ว่างั้นเถอะครับ.

“ซูม”