สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ภายใต้แนวคิด Collaboration for the Future of Finance ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการ สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาประยุกต์ใช้ ในการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร โดยมีธนาคารไทยและต่างประเทศไปร่วมโชว์นวัตกรรมทางการเงินใหม่มากมาย

ที่ฮอตฮิตที่สุดก็คือ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เพื่อยืนยันตัวตน ที่ทุกธนาคารจะนำมาใช้ในเดือนตุลาคมนี้ และ เทคโนโลยียืนยันตัวตนด้วยเส้นเลือดบนฝ่ามือ (Palm Vein) ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ นำมาโชว์ในงานนี้เป็นครั้งแรก

ไฮไลต์ของ Bangkok FinTech Fair ปีนี้ก็คือ การเปิดตัว “ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” (Digital ID) หรือ National Digital ID (NDID) โดย บริษัท National Digital ID จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน มี กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี แบงก์ชาติ สมาคมธนาคารไทย ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพ เป็นการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biometric Technology) โดยใช้ข้อมูลทางชีวภาพของแต่ละบุคคล ในการยืนยันตัวตน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า National Digital ID ถือเป็นกลไกพื้นฐานสำคัญของธุรกรรมการเงินดิจิทัล รวมทั้งด้าน การศึกษา สาธารณสุข ถือเป็นการ สร้างระบบนิเวศใหม่ด้านระบบการเงินของประเทศ ขณะนี้มีสถาบันการเงิน 10 แห่งกำลังทดสอบระบบอยู่ โดย “ผู้ให้บริการ” ต้องปฏิบัติตาม “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับใหม่” ที่บังคับใช้แล้ว เพื่อรักษาความลับของลูกค้า ส่วนแบงก์ชาติก็จะให้ความสำคัญในการตรวจสอบสถาบันการเงิน

...

ในความเห็นผมคิดว่า การใช้ Biometric Payment หรือ การใช้อัตลักษณ์ส่วนตัวของผู้จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า ลายนิ้วมือ เสียง ม่านตา เส้นเลือดบนฝ่ามือ ฯลฯ ซึ่งเป็นความลับทางชีวภาพส่วนบุคคลที่ไม่เหมือนกัน เพื่อยืนยันตัวตน โดยผู้ใช้ไม่ต้องพกบัตร ไม่ต้องจำรหัส ไม่ต้องพกโทรศัพท์มือถือ แค่โผล่หน้าให้กล้องจับ ก็จ่ายเงินซื้อของได้แล้ว ด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกด้านหนึ่งก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะ อัตลักษณ์ของมนุษย์ไม่ใช่ความลับ สามารถใช้เทคโนโลยีเลียนแบบได้ ไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า ลายนิ้วมือ อย่างที่เห็นในภาพยนตร์สายลับ ถ้าระบบรักษาความปลอดภัยไม่ดี ความลับทางชีวภาพส่วนบุคคลรั่วไหลก็จะเป็นอันตรายไปตลอดชีวิต เพราะ คนเปลี่ยนอัตลักษณ์ไม่ได้ ไม่เหมือนเปลี่ยนรหัส

ประเทศไทยแม้จะมี กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ ไม่น่าไว้วางใจ เพราะ การรักษากฎหมายของรัฐบาลไทยหย่อนยานกว่าประเทศอื่น แล้วแต่จะตีความ ตัวอย่างล่าสุดก็คือ การตีความกฎหมายของรัฐบาล คนไทยทำผิดกฎหมายประเทศอื่น ติดคุกในประเทศอื่น ไม่ถือว่ามีความผิดในกฎหมายไทย เพราะไม่ได้ติดคุกเมืองไทย

กลับมาที่ ฟินเทคแฟร์ ต่อครับ ไฮไลต์อีกตัวที่เปิดตัวในงานก็คือ MyPromptQR หรือ คิวอาร์โค้ดระบบใหม่ เพื่อชำระสินค้าและบริการด้วยระบบ Point of Sale สำหรับการค้าปลีก โดยมี 5 ธนาคารจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้คือ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา ธนชาต ออมสิน และมีห้างค้าปลีก เจดี เซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, บิ๊กซี เข้าร่วมให้บริการ ระบบใหม่นี้ ร้านค้าจะเป็นผู้สแกนคิวอาร์โค้ดจาก MyPromptQR ของลูกค้า โดยคิวอาร์โค้ดนี้ใช้ได้เพียงครั้งเดียวถ้าเกิน 5 นาทีจะลบไปเอง และเปลี่ยนโค้ดใหม่ทุกครั้ง เพื่อช่วยคุ้มครองความเสี่ยงของลูกค้า

ก็เก็บมาเล่าสู่กันฟังครับ ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ ตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ระบบสแกนใบหน้า (NDID) ระบบมายพร้อมคิวอาร์ ก็จะถูกนำมาบังคับใช้แล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”