ก่อนหยุดยาวเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์เพียงวันเดียว “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ก็ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งสำคัญออกมาอีก 1 ฉบับ

ว่าด้วย มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมโดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ดังรายละเอียดที่หนังสือพิมพ์พาดหัวไว้แล้วทุกฉบับ ว่าเป็นการช่วยชุบชีวิตหรือต่ออายุทั้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้วต่างก็มีปัญหาหนักหนาสาหัสพอๆกัน

ผมเองไม่มีความรู้ด้านโทรคมนาคมและไม่ได้ติดตามตั้งแต่ต้นก็คงจะขอผ่านไป ไม่มีความคิดเห็นอะไรในชั้นนี้

แต่สำหรับกรณีทีวีดิจิทัลนั้น ผมเคยช่วยเขียนระบายความทุกข์ร้อนของผู้ประกอบการผ่านคอลัมน์นี้หลายครั้ง รวมทั้งเคยขอร้องไว้ด้วยว่าควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการบ้างเท่าที่จะช่วยได้ เพื่อความอยู่รอดของช่องต่างๆ

เพราะเกือบทุกช่องต่างประสบกับการขาดทุนอย่างหนักด้วยสาเหตุที่บางประเด็นทาง กสทช.ก็มีส่วนอยู่มากเหมือนกัน โดยเฉพาะความล่าช้าหรือไร้ประสิทธิภาพในการเตรียมการเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิทัล ดังที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้ว

เมื่อท่านหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 สั่งการให้ช่วยเหลือตามคำแนะนำของ กสทช. โดยการยอมให้ผู้ประกอบการทั้ง 22 ช่อง ไม่ต้องนำเงินค่าประมูลงวดที่ 5 และที่ 6 มาชำระให้แก่ กสทช.อีก จึงถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่เกินกว่าที่ผมเคยคาดไว้

เพราะเมื่อคิดเป็นตัวเงินออกมาแล้วรวมกันทุกช่องจะสูงถึง 13,621 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มิใช่น้อยเลย

นอกจากนี้ ยังยอมให้ผู้ประมูลทีวีดิจิทัลที่ไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป สามารถคืนใบอนุญาตได้ด้วย...โดยขอให้แจ้ง กสทช.อย่างเป็นทางการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้

...

ผมต้องขอขอบคุณการตัดสินใจที่ผมเห็นว่ากล้าหาญอย่างยิ่งของบิ๊กตู่ไว้ ณ ที่นี้ เพราะตระหนักดีว่าจะต้องมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้

เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนเหตุผลและความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยแท้จริง เพราะหากรัฐบาลจะไม่ยกเว้นเงิน 2 งวดหลังให้ท่านก็มีสิทธิจะทำได้ แต่เมื่อท่านเห็นว่าเมื่อท่านได้คลื่นคืนไปและอาจนำไปประมูลใช้ทางโทรคมนาคมได้เงินที่สูงกว่า ท่านก็พร้อมจะนำเงินก้อนนั้นมาจ่ายชดเชยทีวีดิจิทัลบางส่วน และยอมสละค่าประมูลส่วนที่เหลืออีก 2 งวด เพื่อให้ธุรกิจดิจิทัลทีวีอยู่ได้ต่อไป

ต้องยอมรับว่าการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลของประเทศไทย เป็นความโชคร้ายที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ก่อน เพราะในห้วงเวลาที่มีการเปิดประมูลนั้น Digital Disruption หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่อื่นๆยังไม่ชัดเจนนัก

ทำให้ผู้ประกอบการทุกคนมองธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างมีความหวัง อย่างมีความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จอย่างสูงส่ง จึงได้ประมูลสู้ราคากันแบบเอาเป็นเอาตาย

ครั้นพอประมูลได้แล้ว “สึนามิสื่อมวลชน” ก็เกิดขึ้นและส่งผลทำลายล้างอย่างกว้างขวาง จากการที่ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเดียวสามารถใช้งานได้ทุกอย่าง รวมทั้งเป็นเครื่องส่ง เครื่องรับทีวี ได้ในตัวเอง

โดนกันหมด ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และทีวีดิจิทัลเองก็หนีไม่พ้น

สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเยอะยังไปไม่รอด...มีหรือสื่อทีวีที่ต้องลงทุนในการผลิตรายการอย่างมหาศาล จะไปรอด ทำให้เราได้ยินข่าวช่องนั้นขาดทุน ช่องนี้ขาดทุน แม้ยักษ์ใหญ่ทีวีในอดีตก็ยังสั่นคลอน

ได้ยาวิเศษจาก ม.44 มาช่วยต่ออายุครั้งนี้ ก็คงจะหายใจหายคอสะดวกขึ้นมาหน่อยหนึ่ง และจากนี้ไปก็หวังว่าใครที่ยังพอมีเรี่ยวแรงอยู่บ้าง คงจะลุกขึ้นสู้ต่อไป ส่วนใครที่หมดเรี่ยวแรงจริงๆจะยอมโยนผ้าเพียงเท่านี้ ก็คงไม่มีใครตัดพ้อต่อว่า...มีแต่เห็นอกเห็นใจเท่านั้น

สรุปบทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ การไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งยังมีอะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็นและเดาไม่ถูกอีกมากรออยู่ข้างหน้า คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆนัก

นี่ขนาดมาแค่ยุค 3.5 คือ จะเป็นทีวีดิจิทัล ให้ทันสมัยซะหน่อย ก็บาดเจ็บสาหัสปางตายไปตามๆกัน

ที่สำคัญไม่ทันไรเลย ทีวีดิจิทัลก็ทำท่าจะไม่ทันสมัยซะแล้ว เพราะโดน “ดิจิทัล” อย่างอื่นที่ทันสมัยกว่าแย่งคนดูไปอย่างมหาศาลในช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมา.

“ซูม”