เสรีภาพสื่อมวลชนกลายเป็นประเด็นปัญหาอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี กล่าวหาว่ามีเนื้อหารายการก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ต่อมาวอยซ์ทีวีฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้เป็นจอดำ

พูดง่ายๆ ก็คือ กสทช.สั่งปิดวอยซ์ทีวี 15 วัน สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตรายการข่าวออนไลน์ ได้ร่วมกันแถลงการณ์คัดค้านคำสั่ง กสทช. เพราะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นว่ารายการทีวีกระทบต่อความมั่นคง ก็ชอบที่จะดำเนินคดีตามปกติ

การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ น่าจะไม่ใช่เพียง “ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” แต่น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญเลย ทีเดียว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ระบุว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนเสรีภาพ” จะกระทำมิได้ หลักการนี้เขียนไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 เมื่อ 70 ปีมาแล้ว และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ต่างกันแต่เพียงว่ารัฐธรรมนูญ 2492 และ 2517 เขียนว่า “ห้ามปิดหนังสือพิมพ์” เพราะในยุคก่อนวิทยุกับโทรทัศน์เป็นกิจการของรัฐ จึงคุ้มครองแต่หนังสือพิมพ์ ต่อมารัฐธรรมนูญ 2540 ขยายการคุ้มครองมาถึงวิทยุและโทรทัศน์ อาจถือได้ว่าเป็นการปลดแอกวิทยุและโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้กำเนิด “กสทช.”องค์กรรัฐที่เป็นอิสระ

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตั้ง กสทช.ขึ้นมา เพื่อให้เป็นองค์กรรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่เพื่อลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเสนอข่าว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในสังคมประชาธิปไตย โดยอ้างกฎหมายคณะรัฐประหาร

...

พ.ร.บ.กิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ กสทช.อ้าง เพื่อสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ออกมาตั้งแต่ปี 2551 ในรัฐบาลของคณะรัฐประหาร กฎหมายนี้ให้ กสทช.มีอำนาจสั่ง “ระงับการออกอากาศ” หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเขียนไว้ชัดห้ามปิดหนังสือพิมพ์ “หรือสื่อมวลชน” เป็นหลักการที่ยึดถือมาเกือบศตวรรษ

การปิดกิจการสื่อมวลชน เป็นหลักการที่สืบทอดมาจากแนวความคิด “อำนาจนิยม” ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย น่าจะมีองค์กรใดร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าการสั่งปิดสื่อมวลชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน สืบไป ทุกคนต้องยอมรับว่า “รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด” กฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ.