เมื่อ “คนอยากเลือกตั้ง” ประกาศจะนัดชุมนุม เมื่อพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ประกาศว่า “อย่าล้ำเส้น” นักข่าวรุ่นผม เคยมีความหลังอยู่กับสนามหลวง ก็คิดถึงต้นมะขามสนามหลวง
ใน “หมายเหตุประเทศสยาม” เล่ม 8 (บริษัท 959 พับลิชชิง จำกัด พ.ศ.2549) เรื่องที่ 378 เอนก นาวิกมูล เขียนเรื่องรื้อกำแพงวังหน้า เพิ่มพื้นที่สนามหลวง พ.ศ.2440
สนามหลวง สมัย ร.1-ร.4 มีเพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน คือด้านพระบรมมหาราชวัง เพิ่งมาขยายเต็มที่ เมื่อรื้อกำแพงวังหน้า สมัย ร.5
หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 13 มีเรื่องวังหน้า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อกล่าวถึงแผนที่วังหน้า...ว่า เมื่อเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร หรือวังหน้าแล้ว
ต่อมา ป้อมปราการต่างๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ ร.5 ทรงพระราชดำริว่า จะลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้แต่ที่เป็นสิ่งสำคัญ
“จึงโปรดให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆ ส่วนชั้นนอกข้างด้านตะวันออกลง เปิดที่เป็นสนามหลวง”
เมื่อเสด็จกลับจากประพาศนานาประเทศในยุโรปครั้งแรก รัตนโกสินทร์ศก 116 พ.ศ.2440 ทรงจัดการตกแต่งพระนครให้ไพบูลย์ขึ้น โปรดให้ข้างตะวันออกทำถนนราชดำเนินใน
และท้องสนามหลวงขยายต่อขึ้นไปข้างเหนือ จึงรื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆต่อไปอีก
คงไว้แต่พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส
แต่เหตุใด รอบสนามหลวงต้องปลูกต้นมะขาม ทำไมไม่เป็นต้นอื่น...ส.พลายน้อย ตั้งคำถามนี้เป็นชื่อเรื่อง ไว้ในหนังสือ ร้อยแปดเรื่องเมืองไทย (สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2545)
ตามที่สังเกตจากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 จะพบว่าถ้าเป็นต้นไม้มีดอก มีผล ต้องมีคนดูแลแล้ว โปรดให้ปลูกในเขตพระราชฐาน ส่วนต้นไม้ใหญ่ ทนแดดทนฝนจะอยู่ตามถนน
...
ต้นไม้ต่างๆ มีผู้น้อมถวาย เช่น ต้นมะขามเคยมีผู้ถวายคราวเดียว 200 ต้น
จึงพอเข้าใจได้ว่า มะขามมีมาก หาง่าย เหมาะสำหรับปลูกรอบสนามหลวง และตามถนนพระราชดำเนิน เพราะจะหาต้นไม้อย่างอื่นมากๆได้ยาก
ในพระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าหมื่นเสมอใจราช (เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์) ตอนหนึ่งว่า ไปแลเห็นต้นมะขามตามถนนดวงตวัน (ปัจจุบัน ถนนศรีอยุธยา) ปลูกตลอดแล้ว ดูน่ารัก
ส.พลายน้อย สรุปว่า เพราะต้นมะขามหาได้ง่าย มีขนาดไม่สูงปิดบังอาคาร มีความทนทาน เมื่อมีความสมบูรณ์ใบเขียวสดเป็นพุ่มงามตา บังแดดได้ดี
จึงเป็นต้นไม้ชนิดเดียวที่ถูกเลือกมาปลูกไว้รายรอบสนามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2443
จนถึงปี 2543 ครบ 100 ปี รอบสนามหลวง ยังมีต้นมะขามทั้งสิ้น 734 ต้น
มะขามต้นหนึ่ง ในจำนวนนั้น ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เคยถูกใช้เป็นที่แขวนคอนิสิตนักศึกษาคนหนึ่ง โดยน้ำมือพวกคลั่งชาติ
ภาพถ่ายภาพนี้ สำนักข่าวเอพีได้รางวัลพูลิตเซอร์
ส่วนภาพหน้าหนึ่ง นสพ.ไทยรัฐ นอกจากมีภาพนักศึกษาถูกแขวนคอภาพเดียวกัน ยังมีไอ้บ้า...อีกคน โหนกิ่งมะขามถีบหน้า สะท้อนความชิงชังคั่งแค้น...มากขึ้นไปอีก
ผมนึกเรื่องนี้ แล้วก็ใจคอไม่ดี ทุกครั้งของโศกนาฏกรรมใหญ่ มักเริ่มจากใครฝ่ายหนึ่ง “ล้ำเส้น” ก่อน แล้วอีกฝ่ายก็ใช้เป็นเงื่อนไขใช้ความรุนแรงล้อมปราบ
ก็ได้แต่ภาวนา โลกพัฒนาก้าวหน้ามาถึงวันนี้ หวังว่า เหตุแรงร้ายคล้าย 6 ตุลาฯ 19 จะไม่เกิดขึ้นอีก.
กิเลน ประลองเชิง