หลังจากเหตุการณ์พายุ “แฮเรียต” ถล่มแหลมตะลุมพุก และภาคใต้จนนำความเสียหายมาสู่ภาคใต้ทั้งภาคอย่างรุนแรง เมื่อ พ.ศ.2505 หรือ 56 ปีเศษ ดังที่ผมสรุปไว้เมื่อวานนี้แล้ว

ภาคใต้ยังคงเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่เป็นข่าวใหญ่ และยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยก็คือเหตุการณ์กรณี “น้ำป่า” จากภูเขานำโคลนและต้นซุงพุ่งเข้าใส่ “ตำบลกะทูน” อ.พิปูน และ “หมู่บ้านคีรีวง” ตำบลกำโลน อ.ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531

ทั้ง 2 พื้นที่เป็นหมู่บ้านในหุบเขาแทบจะจมอยู่ในโคลน โดยเฉพาะที่กะทูน ในขณะที่คีรีวง บ้าน วัด โรงเรียน ฯลฯ พังไปจำนวนมากกลายเป็นเศษหินจมอยู่ในลำน้ำ ส่วนที่เป็นไม้ก็ลอยหายไปจากสายตา

รวมทั้ง 2 พื้นที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ 230 คน

แต่ด้วยใจสู้ของพี่น้องทั้ง 2 หมู่บ้าน ทุกวันนี้ต่างพลิกฟื้นกลับมาแล้วทั้งสิ้น ที่กะทูนกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอ่างเก็บน้ำในพระราชดำริ

ส่วนที่ “บ้านคีรีวง” ปัจจุบันมีรีสอร์ตและโฮมสเตย์โผล่ผุดขึ้นมากมาย กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังของภาคใต้

ผมมีโอกาสติดตามท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ที่ตัดสินใจไปสร้าง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา แทนโรงเรียนเดิมที่ถูกกระแสน้ำป่าและโคลนพัดจมสูญหายไปทั้งหลัง

ได้แก่ ไทยรัฐวิทยา 74 (ชุมชนบ้านคีรีวง) ซึ่งก็ยังเป็นแหล่งให้การศึกษาขั้นต้นแก่ลูกหลานชาวคีรีวงมาจนถึงทุกวันนี้

ถัดมาอีกเพียงปีเดียวในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน 1-10 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 ก็เกิด “พายุเกย์” เข้าถล่มภาคใต้ตอนบนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เสียหายหนักมาก

รวมทั้งบางส่วนของประจวบคีรีขันธ์ก็พลอยโดนไปด้วย

...

มีผู้เสียชีวิต 446 คน บาดเจ็บ 154 คน บ้านเรือนเสียหาย 38,002 หลัง เรือล่ม 391 ลำ ถนนเสียหาย 579 เส้น โรงเรียนพัง 160 โรง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 80,900,105 ไร่

นับเป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่งของภาคใต้

นสพ.ไทยรัฐ โดยท่าน ผอ.กำพล นำขบวนคาราวานขนข้าวของที่จำเป็นและอาหารลงไปช่วยเหลือพี่น้องชาวชุมพรทันทีที่พายุสงบและทางการอนุญาตให้เดินทางไปได้

หลังจากนั้นท่าน ผอ.กำพลก็ตัดสินใจสร้างโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา ให้อีก 3 หลัง แทนโรงเรียนเก่าที่พังทลายไป เพราะพายุเกย์ ได้แก่ ไทยรัฐวิทยา 76 (บ้านพละ) อ.ปะทิว, ไทยรัฐวิทยา 77 (บ้านเนินสันติ) อ.ท่าแซะ และ ไทยรัฐวิทยา 78 (วัดสามัคคีชัย) อ.ปะทิว

จากความช่วยเหลือของทุกภาคส่วนและด้วยหัวใจที่เข้มแข็งของพี่น้องชาวชุมพร โดยเฉพาะชาวปะทิวและท่าแซะที่เสียหายหนัก...ทุกวันนี้ใครที่มีโอกาสไปจังหวัดนี้ก็คงจะเห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองแทบไม่เหลือภาพอันหฤโหดอย่างที่ผมเคยเห็นเมื่อ พ.ศ.2532 อีกเลย

ยังมีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความแข็งแกร่งของชาวใต้อีกมาก เช่น เหตุการณ์นํ้าท่วม หาดใหญ่ และจังหวัดอื่นๆอีกหลายครั้ง

มาจนถึงเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุด นำความเสียหายมาสู่ภาคใต้มากที่สุด ได้แก่ ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ที่เข้าถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 มีผู้เสียชีวิตที่ยืนยันแล้วเกือบ 5,400 คน

แม้จะโศกเศร้าเสียใจอย่างใหญ่หลวง แต่พี่น้องชาวใต้ก็ยังยืนหยัดกัดฟันสู้ร่วมกันฟื้นฟูทั้งจิตใจและสภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลงทุนใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ภูเก็ต, พังงา, กระบี่ ที่เสียหายอย่างหนักยังสามารถยืนหยัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้ตราบทุกวันนี้

หวังว่าเมื่อพายุ “ปาบึก” คลี่คลายลงไปแล้วทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไทยจะร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูจิตใจ อาชีพ ตลอดจน ความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวใต้ทุกจังหวัดที่ประสบเคราะห์ครั้งนี้จนสามารถกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งหนึ่ง

ผมเชื่อว่ากลับมาได้แน่นอน และจะไปไกลกว่าเดิมด้วยซํ้า ผมมั่นใจในหัวใจที่เข้มแข็งของพี่น้องชาวใต้ครับ.

“ซูม”