ท่านผู้อ่านคงจะพอจำได้นะครับว่า เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมามีการเปิดตัว “มหานครสกายวอล์ค” จุดชมวิวแบบ 360 องศาบนพื้นกระจกลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ชั้น 78 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ของตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ตึกสูงสุดของประเทศไทย ณ นาทีนี้ (สูง 314.2 เมตร)
ควบคู่ไปกับการเปิด รูฟ ท็อปบาร์ ที่ตั้งอยู่บนชั้นเดียวกัน สำหรับเสิร์ฟเครื่องดื่มต่างๆแก่ผู้ขึ้นไปชมวิว หรือพักผ่อนหย่อนใจถือเป็น “บาร์” ที่สูงที่สุดของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ภายหลังพิธีเปิดตัวผ่านไปไม่นานนักทีมงานซอกแซกก็ได้รับเชิญจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคิง เพาเวอร์ให้ส่งทีมไปร่วมซอกแซกและสัมผัสกับบรรยากาศความสูงของ “มหานคร สกายวอล์ค” ว่าตื่นตาตื่นใจและเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด
เนื่องจากตัวหัวหน้าทีมซอกแซกเป็นโรคกลัวความสูงอย่างยิ่งคนหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าความสูงของตึกนี้ตลอดจนการออกแบบต่างๆจะทำให้คนเป็นโรคกลัวความสูงเกิดอาการเข่าอ่อนกลางอากาศหรือไม่อย่างไร?
แต่เนื่องจากความน่าสนใจของสกายวอล์คแห่งนี้ค่อนข้างสูง มีเสียงกล่าวขวัญจากผู้ที่ไปสัมผัสมาแล้วในลักษณะชื่นชมอย่างมาก ประกอบกับมีข่าวว่าเริ่มฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยมากขึ้น และมากขึ้นตามลำดับ หัวหน้าทีมซอกแซกจึงส่งทีมงานที่ไม่กลัวความสูงชุดหนึ่งไปซอกแซกชิมลางและหาข้อมูลมาก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ทีมงานซอกแซกชุดไม่กลัวความสูงเขียนรายงานส่งมาให้อ่านเรียบร้อยแล้วดังต่อไปนี้
เร่ิมตั้งแต่การเดินทางไปที่ “คิง เพาเวอร์มหานคร” ซึ่งทีมงานย้ำว่า ไม่ยากเลยนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสไปลงที่สถานี ช่องนนทรี (ทางออกหมายเลข 3) หรือขับรถไปก็ไปจอดได้ที่ชั้นใต้ดินของ Mahanakorn Cube แล้วขึ้นลิฟต์ มายังชั้น G เดินผ่านหน้าร้าน Dean and Deluca จากนั้นให้เลี้ยวขวาเพื่อไปยังตึกใหญ่คิง เพาเวอร์ มหานครได้ทันที
...
ที่บริเวณชั้น 1 หน้า King power Duty Free and Retail Shops จะมีเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรเพื่อขึ้นสู่ “มหานครสกายวอลก์” มีแผ่นป้ายบอกว่า เปิดให้บริการตั้งแต่ 10.00-24.00 น. แต่จะปิดจำหน่ายบัตรเวลา 23.00 น. เมื่อซื้อบัตรเรียบร้อยแล้วก็เดินไปต่อคิวขึ้นลิฟต์ได้เลย ซึ่งมีอยู่ 2 ตัวด้วยกัน สามารถจุได้ครั้งละ 15 คนต่อลิฟต์ ดังนั้นในรอบที่ทีมงานซอกแซกไปชม จึงต้องเข้าแถวรอยาวหน่อยแต่ก็ ใช้เวลาไม่นานนัก
ระหว่างรอก็สามารถที่จะชมโน่นนี่รอบๆ ตัวไปได้ตลอด เช่น มองขึ้นเพดานบนจะเห็นแผนที่กรุงเทพฯ ส่วนกำแพงด้านข้างก็จะเป็นวิดีโอเกี่ยวกับของดีของเมืองไทยให้นักท่องเที่ยวดูฆ่าเวลา เช่น ส้มตำ ผัดไทย นวดแผนไทย ฯลฯ เป็นต้น
พอเข้าไปในลิฟต์ได้แล้วก็จะเร็วมาก เพราะเป็นลิฟต์ที่ขึ้นด้วยความเร็ว 480 เมตร ต่อนาที ดังนั้นจึงใช้เวลาเพียง 50 วินาที ก็สามารถขึ้นมาถึงชั้นที่ 74 และระหว่างที่ลิฟต์เคลื่อนตัวภายในลิฟต์ก็จะแสดงภาพมุมสูงเหมือนกับเราขึ้นลิฟต์แก้วที่มองออกไปด้านนอก โดยใช้เทคนิคเข้ามาช่วยถือเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนกับลิฟต์อื่นๆ
ที่ชั้น 74 เป็นการชมวิวในอาคาร 360 องศา มีความพิเศษที่ใช้เทคโนโลยี AR ร่วมด้วย ทำให้สามารถชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้แบบเสมือนจริง ซึ่งจากชั้นนี้เองก็สามารถจะมองเห็นทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ โดยรอบจากใกล้ไปถึงไกลงดงามอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีตู้ไปรษณีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยไว้บริการด้วย สามารถส่งโปสต์การ์ดไปที่ไหนก็ได้ จากตู้ไปรษณีย์นี้
สำหรับผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมแค่ชั้น 74 ก็จะ สิ้นสุดการชมที่ชั้นนี้จะใช้เวลาเดินชมนานเท่าไรก็ได้ แต่จะต้องอยู่ในชั้นนี้เท่านั้น
สำหรับผู้ที่ซื้อบัตรแบบชม Rooftop ด้วย จะต้องเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้น 75 เพื่อเปลี่ยนไปใช้ลิฟต์แก้วขึ้นไปชั้น 78 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดอีกต่อหนึ่ง และที่ชั้นนี้เองจะมีห้องน้ำไว้บริการ ก็ควรจะถือโอกาสใช้บริการ “สุขา” ที่อยู่สูงสุดของประเทศไทยไว้เป็นประสบการณ์เสียด้วยเลย
ก็มาถึงดาดฟ้าชั้น 78 ซึ่งจะมีบาร์จำหน่ายเครื่องดื่ม หรือ Rooftop Bar สูงสุดในประเทศไทยไว้บริการด้วย ดังได้กล่าวไว้แล้วหลายๆคนทีเดียวที่เข้าไปอุดหนุนเครื่องดื่มต่างๆ และถือมาดื่มระหว่างเดินชมวิว 360 องศา เห็นไปไกลถึง บางกระเจ้า, ตึกใบหยก, วัดพระแก้ว, วัดอรุณ, วัดโพธิ์, ภูเขาทอง, แม่น้ำเจ้าพระยา, และ ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าใหม่อันโด่งดังของประเทศไทย ฯลฯ
ณ ชั้นนี้เองที่เป็นจุดไฮไลต์ที่เรียกว่า Glass Tray หรือถาดกระจกลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นกระจกโล่งๆใสๆอย่างเดียว มองเห็นได้ทั้งเบื้องบนรอบๆตัวและลงสู่ข้างล่างใต้เท้าของเราพร้อมสรรพ
นี่คือจุดท้าทายที่คนเป็นโรคกลัวความสูง ห้ามเด็ดขาด แต่ปรากฏว่าผู้คนที่ขึ้นไปส่วนใหญ่มักเป็นคนไม่กลัวความสูงอยู่แล้ว ต่างก็เข้าคิวกันเข้าไปเดินบนแผ่นกระจกยักษ์ ชมหลังคาตึกอย่างคับคั่ง โดยรอบหนึ่งจะให้เวลาเพียง 10 นาที
เขาห้ามไม่ให้ถืออะไรติดมือเข้าไปทั้งสิ้น รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ฉะนั้นหากใครอยากจะมีภาพไว้เป็นที่ระลึกว่าขึ้นไปยืน หรือนั่ง หรือนอนบนพื้นกระจกควรจะมีเพื่อนไปด้วย จะได้วานเพื่อนช่วยถ่ายรูปให้จากบริเวณที่ยืนนอกกระจกอีกทอดหนึ่ง
กล่าวกันว่า กระจกแผ่นนี้คือสุดยอดไฮไลต์ของการขึ้นไปบนตึกนี้ เพราะ 10 นาทีบนแผ่นกระจกจะประทับใจคุณไปอีกนานแสนนาน
อนึ่งค่าเข้าชมตึกเฉพาะ อาคารชั้น 74 ชมภายในเท่านั้น ราคาบัตร 850 บาท (เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้สูงอายุ ราคา 250 บาท) ส่วนค่าขึ้นสู่ชั้น 78 ซึ่งเป็นชั้นไฮไลต์ราคา 1,050 บาท (เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้สูงอายุราคา 450 บาท)
หัวหน้าทีมหมายเหตุ--สำหรับเราเองคงจะไปได้แค่ชั้น 74 นั่นแหละ และอ่านอย่างนี้แล้วก็คงจะหาโอกาสไปสักวันหนึ่งเร็วๆนี้--ส่วนชั้น 78 นั้นลืมไปเลยเถอะ โดยเฉพาะลานกระจกยักษ์อะไรที่ว่าต่อให้จ้างสักล้านก็คงไม่หัน ไปมอง...เอ๊ยคงไม่กล้าเดินเข้าไปละครับ.
...
“ซูม”