สวัสดีปีกุนครับ ท่านผู้อ่าน นสพ.ไทยรัฐ ที่เคารพทุกท่าน ปีเก่าแห่งความผันผวนเพิ่งผ่านไป ปีใหม่ที่ผันผวนยิ่งกว่าก็มาแทนที่การดำเนินชีวิต ธุรกิจ และกิจกรรมต่างๆ ในปีนี้ คงต้องใช้ “สติ” กันมากขึ้นเพื่อความไม่ประมาททั้งปวง ช่วงการเปลี่ยนผ่านพุทธศักราช สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมว่าด้วย “ขันติธรรม” แก่พุทธศาสนิกชน เพื่อนำไปปฏิบัติในปีใหม่ 2562 ซึ่งเป็นดั่งพรที่ทุกคนพึงหยิบยื่นให้กันได้ ผมจึงขอนำมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ตรงนี้

“บัดนี้ บรรลุอภิลักขิตสมัยขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2562 แล้ว

ผู้คนทั้งหลาย ต่างกล่าวคำอำนวยพรให้แก่กันและกัน โดยทั่วไป จิตใจอันประกอบด้วย “เมตตาธรรม” เช่นนี้ นับเป็นบุญเป็นกุศล สามารถยังความเจริญสุขให้บังเกิดขึ้นได้ในสังคม ด้วยเหตุผลที่ “เมตตาธรรม” เป็นธรรมอันค้ำจุนโลกไว้ให้สันติสุขร่มเย็น เป็นภาวะที่ทุกชีวิตล้วนปรารถนา เมื่อทบทวนชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคนในรอบปีที่ผ่านมา ย่อมพบว่าต่างคนต่างต้องประสบทั้งความสุขและความทุกข์ สลับสับเปลี่ยนไปมาด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่จะสุขกายสบายใจไปได้ตลอดเวลา เพราะความทุกข์นั้นเป็นของธรรมดาประจำโลก มนุษย์จึงแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ด้วยกระบวนการอันเนื่องมาจากวิธีคิดต่างๆกันไป

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงประทานหลักการสำคัญไว้ให้แก่ชาวโลกว่า ถ้าปรารถนาจะถึงความพ้นทุกข์ ต้องรู้จักทุกข์ และรู้ต้นเหตุแห่งทุกข์นั้นให้ได้กระจ่างเสียก่อน ตามหลักการที่เรียกว่า “อริยสัจ 4” เมื่อรู้ทุกข์และสาเหตุแห่งทุกข์แล้ว จึงจะสามารถกำหนดวิถีทางดับทุกข์ พร้อมกับประพฤติปฏิบัติตามวิถีนั้นๆไป จนบรรลุถึงความดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง

...

ผู้คนเป็นอันมาก เมื่อประสบความขัดข้องใจ ก็จะออกอาการ ขุ่นเคือง หยาบคาย โกรธขึ้ง ไปจนถึงขั้นทำร้ายเบียดเบียนกัน ก่อให้เกิดปัญหาในสังคม ดังที่ได้ยินข่าวกันอยู่เนืองๆ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก บุคคลเหล่านั้นไม่รู้จักทุกข์ และไม่รู้จักสาเหตุแห่งทุกข์ว่าล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัว จึงตั้งทิฐิมานะไว้ว่า ตนยิ่งใหญ่และถูกต้องเสมอ บุคคลผู้มีความเห็นดังกล่าว ย่อมไม่อาจอดทนอดกลั้นต่อความประพฤติ หรือความคิดเห็นใดๆ ที่แตกต่าง ไปจากความคิดเห็นของตน

ท่านผู้ปรารถนาความสุขในปีใหม่นี้ จึงพึงระลึกอยู่เสมอว่า ต้นเหตุของความดับทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ล้วนเกิดจากการตั้งทิฐิไว้บนหนทางที่ผิด ถ้าเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง โดยยึดมั่นใน “ขันติ-ธรรม” คือความอดทนอดกลั้นเป็นพื้นฐาน เป็นเครื่องยับยั้งไม่ให้พูด และไม่ให้ทำสิ่งใดๆอย่างหุนหันพลันแล่น ท่านย่อมผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคไปได้เสมอ ขันติจึงเป็นตบะ ซึ่งช่วยบรรเทากิเลสให้เบาบางลง เป็นการเปิดให้คุณธรรมอื่นๆ เช่น ความจริงใจ ความเมตตา ความเสียสละ และความสามัคคี สามารถงอกงามขึ้นได้ เป็นดั่ง “พร” ที่ทุกคนพึงหยิบยื่นแบ่งปันให้กัน ในที่ทุกสถาน และในกาลทุกเมื่อ...”

ผมจึงขอนำ พรปีใหม่ ของ สมเด็จพระสังฆราช ในปีนี้ มาแบ่งปันเป็นพรให้กับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ นักการเมือง ที่กำลังหาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนทุกระดับ ขอให้นำ “ขันติธรรม” ที่ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพรมานำทางชีวิต เพื่อบรรเทากิเลส ยับยั้งการลุแก่อำนาจให้เบาบางลง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อน ทรงอธิบายถึงลักษณะ “ขันติธรรม” ว่า ไม่ใช่หมายความว่าใครตกอยู่ในสภาพอย่างไร ก็ต้องทนอยู่ในสภาพเดิมอย่างนั้น ไม่พยายามดิ้นรนขวนขวาย เช่น ความยากจน ก็ทนอยู่ในความยากจนนั้น ไม่พยายามขวนขวายหาทรัพย์ ความอดทนอย่างนี้ไม่ใช่ลักษณะของ “ขันติธรรม” แต่เป็นลักษณะของคน “ดื้อด้าน” ลักษณะของ “ขันติธรรม” คือ ความรู้สำนึกถึงเหตุผล ผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ระงับยับยั้งความเดือดดาลแห่งจิตลงได้ หรือขับไล่อารมณ์ฝ่ายต่ำออกไปจากจิตใจของตนเสียได้ จึงจะเป็น “ขันติธรรม” อย่างแท้จริง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”