วันนี้วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันนี้รัฐบาลจัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญทั้ง 3 วาระ ได้แก่ 1.การจัดบำเพ็ญกุศลหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศล 2.กิจกรรมเทิดพระเกียรติและเชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณ และ 3.กิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายราชสักการะกตัญญุตาบูชา และกิจกรรมเกี่ยวกับวันชาติ ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2561

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดความเหลื่อมล้ำ

ช่วงเช้า พิธีทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยนิมนต์พระสงฆ์และสามเณรจำนวน 500 รูป รับบิณฑบาต ช่วงค่ำมีการจัดแสดงดนตรีและการแสดงประกอบ “เสียงแห่งความจงรักภักดี : Sounds of Love” โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เวลา 09.00-18.00 น. ที่ท้องสนามหลวง มีการแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติให้ประชาชนได้เรียนรู้พระอัจฉริยภาพในศาสตร์ต่างๆ 9 แขนง

...

ศาสตร์แขนงหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้เป็นมรดกของคนไทยและของโลกก็คือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้รับเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ยกย่องเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย และนานาประเทศ และสนับสนุนให้สมาชิกยึดเป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

...

ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราโชวาท หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ดังนี้

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นสูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”

ตั้งแต่ แผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 พ.ศ.2545-2549 สภาพัฒน์ ได้อัญเชิญ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็น ปรัชญานำทาง ในการพัฒนาและบริหารประเทศแบบบูรณาการ โดยมี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” จนถึงวันนี้เป็นเวลา 16 ปีแล้ว

ทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ ที่เป็นรากหญ้าและเกษตรกรหลายสิบล้านคนยังตกอยู่ในความยากจน ทุกรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะอัญเชิญ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มานำทาง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเวลา 16 ปีแล้ว แต่ทุกรัฐบาล “พูดมากกว่าทำ” ไม่ได้พัฒนาประเทศตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนระดับล่างไม่สามารถเข้าถึง “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” เช่น เครื่องอบข้าวขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน เครื่องสีข้าวระดับหมู่บ้าน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นขึ้นมา เพื่อช่วยชาวนาระดับหมู่บ้าน มีเครื่องอบข้าวเอง มีเครื่องสีข้าวเอง ทำให้ขายข้าวได้แพงขึ้น เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงในทุกหมู่บ้าน แต่ทุกรัฐบาลกลับไม่ได้สานต่ออย่างจริงจัง

ทุกวันนี้เราจึงยังเห็น ชาวนาตากข้าวเปลือกบนถนนหลวง ไม่กี่วันก่อน ชาวนาลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ก็เพิ่งเป็นข่าวเรื่องตากข้าวบนถนนหลวง แทนที่รัฐบาล เช่น กระทรวงเกษตรฯเห็นข่าวแล้วจะไปช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงกลับแจ้งเชิงขู่ว่า ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อไหร่ชาวนาจะหลุดพ้นจากความยากจนเสียที คนจนคนรวยจะลดความเหลื่อมล้ำลงเสียที ทุกวันนี้กลับถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ คนรวยยุคนี้รวยจนล้นแล้วล้นอีก คนจนกลับจนลงจนรัฐบาลต้องแจกเงินยังชีพ แล้วประเทศไทยจะเดินไปสู่ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีคำตอบครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”