แรงงานชาวไทยโซ่ง ที่สร้างเขาวัง ในสมัย ร.4 คุณวิโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ เล่าไว้ในหนังสือขุนนางโซ่ง ว่าเป็นโซ่งกลุ่มที่ 2 ถูกกวาดครัวมาอยู่ที่ท่าแร้ง เพชรบุรี เมื่อปี 2378-2381 สมัย ร.3
และเมื่อถึงปี 2382 ก็ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่เชิงเขากิ่ว สะพานยี่หิน เวียงคอย วังตะโก
เหตุที่ต้องย้าย เพราะต้องใช้เป็นแรงงาน สร้างพระนครคีรีเมื่อปี 2401
โซ่งคุ้นเคยกับถิ่นที่อยู่ใหม่ ที่ราบใกล้ภูเขา มากกว่าท่าแร้งที่ราบโล่ง ถือว่าถูกนิสัย ในขณะที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็ต้องการแรงงานไปอยู่ใกล้ๆ ใช้ในการสร้างพระราชวัง จึงถือว่าได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ไม่มีบันทึก โซ่งได้ค่าแรงเท่าไหร่ เชื่อว่าได้ค่าจ้างรายวัน วันละ 1 เฟื้อง เทียบกรณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดจ้างชาวพวนและชาวโซ่ง เชิงเขาหลวง เฝ้ารักษาถ้ำวันละ 1 เฟื้อง เมื่อปี 2402
ซึ่งก็เป็นช่วงระหว่าง พ.ศ.2401-2405 เวลาสร้างเขาวัง
ช่วงเวลานั้น ภาพที่คุ้นตา ตั้งแต่เช้าจดเย็น แรงงานโซ่ง นุ่งกางเกง (ซ่วง) สีดำ สวมเสื้อก้อมย้อมสีครามดำ เดินออกจากหมู่บ้านสะพานยี่หน มุ่งตรงไปเขาสมน (เขาวัง)
นับวัน นับเดือน นับปี
แรงงานโซ่งจำนวนมาก แบ่งหน้าที่ทำงานกันเป็นหมวดหมู่ แต่ละหมวดหมู่ มีนายกอง นายหมวด คุมเลกไพร่โซ่ง เรียกนายกอง นายหมวด ว่าสารวัตร
สารวัตรรับคำสั่งจากนายช่าง จะให้ทำอะไรในแต่ละวัน แล้วก็ยังทำหน้าที่ตรวจตราเลกไพร่ในสังกัด ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รับมอบหมายมากน้อย
นอกจากได้ค่าจ้างรายวัน แรงงานโซ่งที่ทำงานบนเขา จะได้รับการเลี้ยงดูอาหารอิ่มหนำ
มีเรื่องเล่า เล่าสืบๆกันมา ในชาวโซ่ง กลุ่มออไอศูรย์ บ้านสะพานยี่หน
บรรพบุรุษโซ่งตระกูลนี้ ชื่อนายออ มีตำแหน่งคุมเลกไพร่ เรียกกันว่า สารวัตรออ
...
โดยปกติ เมื่อชาวโซ่งอยู่ที่บ้าน ก็กินข้าวเหนียว และเมื่อต้องมากินข้าวโรงครัวบนเขาวัง ก็ต้องกินข้าวสวย
คนลาวกินข้าวเหนียว ที่ย่อยยากทำงานอึดกว่า พอต้องมากินข้าวสวย ย่อยง่าย ก็หิวเร็ว ทำงานได้น้อยลง
แต่ก็ยังกินได้ ทำงานต่อไปได้ ไม่มีปัญหาอะไรนัก
วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่โรงอาหาร ถูกอัธยาศัยกับคนโซ่ง ก็แสดงน้ำใจ ออกปากถาม
“มื้อกลางวันวันนี้ จะกินข้าวสวยหรือกินข้าวต้ม”
โซ่งเข้าใจว่าข้าวต้ม คือข้าวเหนียวห่อใบตอง หรือข้าวต้มมัด ก็ดีใจ ซุบซิบหารือกัน ข้าวต้มคุ้นลิ้นและหนักท้องกว่าข้าวสวย ทั้งยัง หวังว่าถ้าเหลือจะพกห่อกลับไปฝากลูกเมียที่บ้าน ก็รีบบอก
ครั้นอาหารมื้อกลางวันมาถึง แรงงานโซ่งก็ขยับตัวกระฉับกระเฉง เตรียมกิน แต่พอเห็นว่าเป็นข้าวต้ม แบบที่คนจีนชอบกินกับเค็มๆดองๆ ก็สะดุดหยุดลง เงียบไปพักใหญ่
เสียงแรงงานโซ่งคนหนึ่ง ดังได้ยินเต็มสองหู
ฮ้าเหีย (ฉันนึกว่า) เข่าต้ม อ้างกระแท้ (ที่แท้) อูย มันเป็นเข่าแกงแหลว (ข้าวเหลว)
บ่ายวันที่แรงงานโซ่งซดข้าวต้มกลางวัน ท้องเบาหิว จึงทำงานแบบหน้านิ่ว กระปลกกระเปลี้ยเพลียแรง
เรื่องเล่า “เข่าต้ม” มื้อกลางวันมื้อนั้น คนอื่นฟังอาจไม่ขันนัก แต่สำหรับโซ่งตระกูลออไอศูรย์ งัดออกเล่าเมื่อใด เป็นกลั้นหัวร่อไม่ไหว ฮากลิ้งกันไปเมื่อนั้น
ผู้คนสมัยใหม่ เมื่อพูดกันว่า “ไปกินข้าวต้มกลางวัน” ไม่ใช่เรื่องขำขัน แต่เป็นเรื่องสัปดน
เรื่องนินทาเอามาโจมตีกัน ในวงการเมือง คนระดับผู้นำ ลางานสภาไปกินข้าวต้มกลางวัน...แค้นถึงขั้นฆ่ากันตาย เรื่องขำขันคนพวกหนึ่ง เป็นเรื่องเครียดคนอีกพวกหนึ่ง โลกเรานี้ ไม่มีอะไรจีรังสักอย่างเดียว.
กิเลน ประลองเชิง