รัฐบาล คสช.เคยอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจ เป้าหมายสำคัญคือการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การสร้างความปรองดองของคนในชาติ และการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และในที่สุดก็ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น “ฉบับปราบโกง” เกือบห้าปีผ่านไปแต่คอร์รัปชันก็ยังเฟื่องฟูอยู่

สื่อมวลชนยังรายงานข่าวการโกงกินเป็นระยะๆ เช่น การโกงเงินสงเคราะห์คนพิการ โกงเงินช่วยเหลือผู้ไร้ที่พึ่งหรือคนอนาถา โกงเงินบำรุงวัดและพระพุทธศาสนา แม้แต่ในวงการศึกษาที่เรียกว่าแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติ ก็มีคดีทุจริตมากมาย มีทั้งโกงทุนการศึกษา และมีการโกงแบบแปลกประหลาดพิสดาร เช่น โกงเงินค่าอาหารเด็กและกรณี “เด็กผี”

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 เพิ่งจะมีคำพิพากษาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สั่งจำคุกอดีต ผอ.โรงเรียนในเขตอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส 70 ปี ในคดีโกงเงินค่าอาหารเด็กนักเรียน แบบขอยืมเองอนุมัติเอง เป็นความผิด 14 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 35 ปี

คดีใหม่ๆแปลกๆอีกคดีหนึ่งได้แก่ คดี “นักเรียนผี” ผู้บริหารโรงเรียนตกแต่งบัญชีรายชื่อนักเรียน โดยใส่ชื่อนักเรียนที่ไม่มีอยู่จริง บางโรงเรียน 196 คน บางแห่ง 239 คน เพื่อขอเงินช่วยเหลือนักเรียน ม.ต้น และ ม.ปลาย รายละ 4,800 บาท ถึง 62,000 บาท เงินส่วนเกินที่รับมาล่องหนหายตัวไป ซ้ำยังมี ผอ.บางคนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น

เคยมีการกล่าวหาว่ารัฐบาลเลือกตั้ง มีการทุจริตคอร์รัปชันกันมาก ผลการสำรวจความเห็นประชาชน คนส่วนใหญ่ระบุว่า “นักการเมือง” เป็นขี้โกงตัวพ่อ แต่ในยุคที่ไม่มีนักการเมืองอย่างในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศถูกปกครองโดยรัฐบาลข้าราชการที่มีอำนาจเด็ดขาด และมีรัฐธรรมนูญปราบโกงเป็นกลไกสำคัญ แต่การทุจริตก็ยังรุ่งเรือง

...

ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. ที่เขียนไว้ว่าจะปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และมีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างมีประสิทธิภาพ

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่บทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงด้วยวิธีการต่างๆหรือไม่ มีการใช้อิทธิพลหรืออำนาจรัฐ หรือใช้งบประมาณแผ่นดิน เอื้อประโยชน์การเลือกตั้งหรือไม่ การโกงเลือกตั้งเป็น “อนันตริยกรรม” เป็นบาปสูงสุด เป็นยอดแห่งการโกงทางการเมือง.