ในที่สุด กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ยื้อกันมาไม่รู้กี่ปี ก็คลอดออกมาในวันหวยออกศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเอกฉันท์เห็นชอบ 169 เสียง งดออกเสียง 2 ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 หลังจากที่ สนช. ยื้อมาอีกระลอกนานกว่า 1 ปี 7 เดือน ไม่รู้เป็นเพราะไม่ถูกใจมหาเศรษฐีและนักการเมืองที่มีที่ดินมหาศาลหรือเปล่า จึงรื้อกันนานขนาดนี้

กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เป็นการรวม ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ 12 ฉบับเข้าด้วยกันเป็นฉบับเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยคลัง ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เปิดเผยว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้เป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้ทันสมัย เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้าแบบสากล ไม่มีฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีภาระภาษีลดลงเมื่อเทียบกับภาระภาษีในปัจจุบัน

ไปดูกันเสียหน่อยนะครับ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ คุณต้องเสียภาษีเท่าไหร่

1.ที่ดินเกษตรกรรม เก็บไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี ที่คำนวณได้จากราคาประเมิน

2.ที่อยู่อาศัย เก็บไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี โดยยกเว้นให้บ้านหลังละ 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ได้ยกเว้นฐานภาษีที่ 10 ล้านบาท

3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม เก็บภาษีไม่เกิน 1.2%

4.ที่ดินว่างเปล่า เก็บภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี หากไม่ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน 3 ปี ให้เก็บภาษีในอัตรา 0.3% ในปีที่ 4 หากพบว่าไม่มีการใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ให้เพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุกๆ 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 3% ยกเว้นที่ดินเกษตรกรรมที่มีฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท

...

การชำระภาษี ต้องชำระในเดือนพฤษภาคมทุกปี หากไม่ชำระตามเวลา ต้องเสียค่าปรับ 40% ของภาษีที่ค้างชำระ และหากไม่ชำระภาษีค้างตามเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีก 1% ต่อเดือน โดยให้ปัดเศษเป็น 1 เดือน หากไม่ชำระภายใน 90 วันนับแต่มีหนังสือแจ้งเตือน ให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือ ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน เพื่อนำเงินมาชำระภาษีที่ค้างชำระ เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอื่น โดยไม่ต้องขอให้ศาลสั่ง

ข้อหลังนี้เป็นการ เพิ่มอำนาจให้ผู้บริหารท้องถิ่นอย่างเต็มที่ นับเป็นเรื่อง อันตรายอย่างยิ่ง เพราะ “อำนาจ” กับ “ผลประโยชน์” เป็นเรื่องที่มักจะเอื้อกันไปตลอดถ้าไม่ถ่วงดุล

ใน “บทเฉพาะกาล” ของกฎหมายได้ยกเว้น 2 ปีแรกให้เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในเกษตรกรรม มูลค่าที่ดินประเมินไม่เกิน 75 ล้านบาท เก็บภาษีไม่เกิน 0.01% 7,500 บาท เกิน 75–100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.03% เกิน 100–150 ล้านบาท เก็บภาษี 0.05% เกิน 500–1,000 ล้านบาท เก็บภาษี 0.07% เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เก็บภาษี 0.1% เท่ากับที่ดิน 1 พันล้านบาท เสียภาษีแค่ 10 ล้านบาท เป็นภาษีที่ “เอื้อคนรวย” อย่างเห็นได้ชัด

ส่วน สิ่งปลูกสร้างอยู่อาศัย มูลค่าไม่เกิน 25 ล้านบาท เก็บภาษีในอัตรา 0.03% 7,500 บาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บภาษี 0.05% 25,000 บาท

ผมเห็นด้วยกับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ที่ “น่าเป็นห่วง” ก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่จะเกิดขึ้นจาก กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ เพราะไม่มีการเชื่อมโยง กับกรมที่ดิน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ของกระทรวงมหาดไทย ในการประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับผังเมือง และราคาที่ดินโซนต่างๆที่ควรแตกต่างกัน เช่น โซนที่อยู่อาศัย กับ โซนพาณิชย์และอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรแก้ไขก่อนใช้จริง เพื่อความเป็นธรรมในสังคม.

“ลม เปลี่ยนทิศ”