ทุกๆปีในเดือนกันยายน หรือตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงของปลายปีงบประมาณเก่าจะขึ้นสู่ปีงบประมาณใหม่ คณะผู้บริหารของ SCG หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จะนัดผู้สื่อข่าวอาวุโสของไทยรัฐกลุ่มหนึ่งไป “สนทนาแกล้มอาหารกลางวัน” มาโดยตลอด
จำไม่ได้แล้วว่าดำเนินการมากี่ปี จำได้แต่ว่าได้รับเชิญไปร่วมวงสนทนาตั้งแต่ครั้ง คุณกานต์ ตระกูลฮุน เรื่อยมาจนถึง คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบัน
และที่จำได้แม่นอีกอย่างหนึ่งก็คือการสนทนาแกล้มอาหารกลางวันของ SCG กับพวกเรานั้นมีประโยชน์จริงๆ นอกจากอาหารอร่อยแล้ว ยังจะได้ข่าวสารที่น่าสนใจติดมือกลับโรงพิมพ์อยู่เสมอๆ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองพวกเราก็ได้รับเชิญไปร่วมสนทนาในรูปแบบที่ว่านี้อีกครั้งหนึ่ง
เพื่อนๆผมโดยเฉพาะจาก ไทยรัฐทีวี, ไทยรัฐออนไลน์ รวมทั้ง หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ คงจะเสนอข่าวกันไปแล้วมากบ้างน้อยบ้าง...ส่วนของผมขยักไว้ก่อน เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะหลบไปเที่ยวต่างประเทศจึงตั้งใจจะเก็บไว้ใช้ในชุดข้อเขียนแห้งๆ ระหว่างไม่อยู่...อย่างน้อยก็ได้ 1 วันแน่นอน
สินค้าและบริการของ SCG ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าหลักๆ ได้แก่ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์เคมีคอล, แพ็กเกจจิ้ง และโลจิสติกส์ ฯลฯ
คุณรุ่งโรจน์ให้ตัวเลขกลมๆไว้ก่อนว่า ยอดขายปีนี้น่าจะเข้าไปใกล้หลัก 500,000 ล้านบาท และกำไรก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้าน
สำหรับรายได้จากการขายนั้นมาจากในประเทศประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และจากต่างประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งในกรณีของรายได้จากต่างประเทศสามารถแยกได้เป็น 3 ส่วนคือ ผลิตในบ้านเราแต่ส่งออกไปขายอาเซียน 10 เปอร์เซ็นต์ ไปขายประเทศอื่นนอกอาเซียน 16 เปอร์เซ็นต์ และยังมีส่วนที่ไปสร้างโรงงานในอาเซียนแล้วทำรายได้กลับมาอีก 14 เปอร์เซ็นต์
...
คุณรุ่งโรจน์ขยายความด้วยว่า สินทรัพย์รวมของ SCG ในอาเซียนขณะนี้สูงถึงเกือบ 140,000 ล้านบาท...มากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ประมาณ 50,000 ล้านบาท รองลงไป ได้แก่ เวียดนาม เฉียดๆ 50,000 ล้านบาทเช่นกัน ในขณะที่เมียนมาและลาวนั้นเกิน 10,000 ล้านบาท
ที่ฟิลิปปินส์ก็กำลังมาแรงขยับเข้าใกล้หลักหมื่นล้านบาท และน้อยสุดก็คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมกันประมาณ 500 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการใหญ่บอกพวกเราด้วยว่า อนาคตของตลาดอาเซียนดีมาก เพราะเศรษฐกิจของหลายๆประเทศกำลังขยายตัวและมีกำลังซื้อสูงขึ้น ซึ่งแบรนด์ SCG ก็เป็นที่รู้จักอย่างดียิ่งในประเทศเหล่านี้ทำให้ โอกาสในการขายสินค้าเพิ่มขึ้นไปด้วย
ผมถามถึงงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้สูงขึ้น รวมทั้งการนำผลวิจัยไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่ทันยุคทันสมัย ซึ่งที่แล้วมาเป็นจุดแข็งประการหนึ่งของ SCG
ได้รับคำตอบว่า งบลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมของ SCG ปัจจุบันอยู่ในอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 4,000 ล้านบาทของรายได้ แต่ก็ตั้งใจจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเสนอนวัตกรรมใหม่ๆที่เชื่อมโยงกับผลผลิตของ SCG ในทุกๆส่วน โดยเปิดให้มีการประกวดประขันจนเกิดโครงการใหม่ๆอีกหลายโครงการ
งานวิจัยที่โดดเด่นของ SCG ที่ได้ผลสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง และต่อไปจะมีความสำคัญ และมีความหมายมากกับการช่วยแก้ปัญหาถุงพลาสติกล้นโลก ได้แก่ การนำถุงพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ไปรีไซเคิล เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบส่วนหนึ่งของการทำถนน ซึ่งกล่าวกันว่าจะเป็นถนนที่แข็งแรงทนทานกว่าถนนลาดยางเสียอีก
การทดลองก่อสร้างถนนผสมพลาสติกเริ่มขึ้นแล้วเมื่อเร็วๆนี้ ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่ระยองถ้าโครงการนี้สำเร็จ...จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ล้นโลกล้นประเทศไทย และไม่รู้จะกำจัดอย่างไรได้เยอะเลยครับ
สรุปว่าไปคุยกับผู้ใหญ่ของ SCG ทีไรผมก็มักจะมีข่าวดีๆกลับมาฝากเสมอๆ และก็จะมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยของเรากลับมาด้วยอย่างนี้แหละครับ.
“ซูม”