ถ้ามีเพื่อนชวนไปเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเชื่อว่า 9 ใน 10 คนคงตอบปฏิเสธทันที เพราะกลัวโดนลูกหลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทั้งๆที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ธรรมชาติสวยงาม อากาศดี อาหารอร่อย และมีวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ

วันนี้ขอคุยเรื่อง การเปิดแหล่งท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนี้ สักหน่อย ผมได้รับเชิญจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ให้ไปร่วม กิจกรรม Fam Trip ระหว่างวันที่ 9-13 ต.ค. เยี่ยมชม แหล่งท่องเที่ยว 6 ชุมชนนำร่อง ที่ อพท. เข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบางปู ชุมชนทรายขาว จ.ปัตตานี ชุมชนจุฬาภรณ์ 9 ชุมชนจุฬาภรณ์ 10 จ.ยะลา ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ชุมชนจุฬาภรณ์ 12 จ.นราธิวาส

เสียดายผมติดภารกิจ ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้ แต่เนื่องด้วยเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นความท้าทาย เลยอยากเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาที่ไปและเป้าประสงค์ของโครงการนี้

พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท อดีตผู้อำนวยการ อพท. ที่เพิ่งพ้นวาระไป 1 เดือนเศษ เคยคุยกับผมว่า จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ไปในตัว ผมยังถามท่านว่าเอาแน่หรือ? ใครจะไปเที่ยวที่นั่น? จะรับรองความปลอดภัยได้อย่างไร? แล้วจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบได้ผลจริงหรือ?

พ.อ.นาฬิกอติภัคอธิบายให้ฟังว่า ทุกวันนี้ คนมาเลเซียใน 4 รัฐ ตอนเหนือ เข้ามาเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว มาทางด่านเบตงกับด่านสุไหงโก-ลก เรื่องความปลอดภัยจึงไม่ต้องเป็นห่วง นักท่องเที่ยวชาวมาเลย์ไม่กังวลหรอก เพียงแต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะไปเที่ยวที่เดิม จึงต้องนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

...

การเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น ต้องไม่ไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชน ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตเหมือนปกติ แค่ อพท.จะเข้าไปชูแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหล

ภาพที่คิดไว้ปีแรกต้องการเฉพาะ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย ทำตลาดให้บูมก่อน ปีที่สองจะขยายตลาดดึง คนไทยทางภาคใต้ เข้าไปเที่ยวสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น ถึงปีที่สามค่อยคาดหวังให้ คนไทยทั้งประเทศ สนใจเข้าไปเที่ยวโดยไม่ต้องมีปมให้ห่วงพะวง ขณะเดียวกันจะขยายชุมชนท่องเที่ยวเพิ่มเติมจาก 6 ชุมชนนำร่อง

ส่วนประเด็นจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้ผลหรือไม่นั้น สิบกว่าปีที่ผ่านมารัฐทำมาหลายอย่างแล้ว ใส่งบประมาณลงไปมหาศาล แต่ก็ยังมีความไม่สงบอยู่ ฉะนั้นลองทำแนวทางดูก็ไม่เสียหาย ใช้งบประมาณนิดเดียว แค่ อพท.เข้าไปให้ความรู้ในชุมชนและแนะนำวิธีบริหารจัดการ แต่แนวทางนี้คงไม่เห็นผลทันทีภายในปีสองปี มันจะค่อยๆซึมและขยายวงออกไป

ในทางทฤษฎีการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะใช้วิถีชีวิตตัวเองเป็นต้นทุนเพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งวิถีชีวิตและความผูกพันทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการได้มาซึ่งรายได้ คนในชุมชนย่อมต้องรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมไว้ ไม่ให้ใครมาบ่อนทำลาย ทุกคนจะสอดส่องดูแลไม่ให้ใครก่อเหตุความไม่สงบ ทำลายบรรยากาศท่องเที่ยว

โครงการนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ คอยผลักดันอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งมีการลงนามข้อความตกลงความร่วมมือระหว่าง อพท. กับ 8 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ก็เริ่มจัด กิจกรรมแฟมทริป ส่งเสริมการตลาด สร้างความมั่นใจให้กับชุมชนและผู้ประกอบการ และปีหน้าก็มีแผนจะไปออกบูธใน งานมัตต้า 2019 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่เอาการท่องเที่ยวมาใช้ในมิติของการแก้ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ นายกฯลุงตู่น่าจะส่งทีมงานไปสังเกตการณ์ดูบ้างนะครับ.

ลมกรด