วิวาทะระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายเสนาะ เทียนทอง ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย เป็นบททดสอบความอดทนเล็กๆน้อยๆ ของบุคคลที่ “เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร” และกำลังเข้าสู่การเมืองแบบเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ด้วยตนเอง แต่ต้องเป็นผู้นำกลุ่มพรรคที่สนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

นายเสนาะปลอบใจเพื่อนๆในพรรคเพื่อไทย ใครที่ถูกบีบอย่าหวั่นไหวว่าเขาจะตั้งรัฐบาลได้ เมื่อเลือกตั้งเสร็จพวกนี้ก็หมดอำนาจ แม้จะมี ส.ว. 250 คน แต่จะไม่ทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ถึงจะเป็นได้แต่บริหารประเทศไม่ได้ ถูกตอบโต้ทันควันจาก พล.อ.ประยุทธ์ “ให้คุณเสนาะไปพักผ่อนได้แล้ว แก่แล้ว ดูถูกคนไทยได้อย่างไร” เป็นข่าวดังในทุกสื่อ

การตอบโต้กันลักษณะนี้ นักการเมืองเขาไม่ถือกัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา นายเสนาะเพียงแต่แสดงความเห็น แม้จะมี ส.ว. ในมือ 250 คน ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นนายกฯได้ และแม้จะเป็นได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ เป็นการวิจารณ์ตามหลักการ ส.ว. 250 เสียง ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.อีกอย่างน้อย 126 เสียงจึงจะเลือกได้

แม้จะเป็นนายกฯได้ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิก 2 สภา 376 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่เป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะมี ส.ส.อีกถึง 374 คนที่ไม่ได้ร่วม รัฐบาลจึงกลายเป็นฝ่ายค้าน ส.ส. 374 คนอาจจะจับมือกันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล้มนายกรัฐมนตรีได้ทุกเมื่อ โดยที่ ส.ว. ทั้ง 250 คนไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้

หรือมิฉะนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านอาจจับมือกันคว่ำร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เช่น ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่อนุมัติงบประมาณให้รัฐบาลใช้จ่ายบริหารประเทศไม่ได้ รัฐบาลอาจต้องลาออก หรือมิฉะนั้นก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะได้เสียงข้างมากหรือไม่ นี่อาจเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

...

นักข่าวเคยถามรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ว่านายกรัฐมนตรีจะทนแรงเสียดทานทางการเมืองได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าทนได้ เพราะทนมากว่า 4 ปี แต่เป็นการเมือง “คนละเรื่องเดียวกัน” เพราะกว่า 4 ปี อยู่ในการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หัวหน้า คสช. มีอำนาจ ม.44 สั่งปิดปากใครก็ได้ แต่หลังเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอีกต่อไป

จะไม่สามารถปิดปากนักการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปและจะต้องพบกับการอภิปรายที่ดุเดือดเข้มข้นของฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภา จะทนแรงเสียดทานได้หรือไม่ การเป็นประชาธิปไตยจะต้องเริ่มต้นด้วย “ศรัทธา” เชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยใช้กับประเทศไทยได้ และต้องมี “ขันติ” อดทนรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ยิ่งผู้นำยิ่งต้องมีขันติขั้นอุกฤษฏ์.