วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “คนเจน Z” กันดีกว่านะครับ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลคนรุ่นใหม่ที่เรียก Gen Z ว่า จะมีจำนวนประชากรคิดเป็น 32% ของประชากรโลก 7,700 ล้านคน หรือประมาณ 2,464 ล้านคนในปี 2019 ปีที่เมืองไทยจะมีเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ซึ่งจะเป็นปีแรกที่ประชากร Gen Z มีมากกว่าประชากร Gen Y หรือ คนยุคมิลเลนเนียลส์ ที่มีสัดส่วน 32.5% ของประชากรโลก

เส้นแบ่งระหว่าง Gen Z กับ Gen Y สหประชาชาติ ใช้ปีเกิดช่วง ค.ศ.2000/2001 แต่ผมคิดง่ายๆเอาปี 2001 เป็นเส้นแบ่งครับนับง่ายดี

คนเจนแซดที่เกิดในปี 2001 จะมีอายุครบ 18 ปีในปีหน้า บรรลุนิติภาวะพอดี มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิต ถือเป็นโชคดีของคนเจนแซดในเมืองไทย ผมมีข้อมูลคร่าวๆว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 2554 จนมาถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกประมาณ 6 ล้านคน เอาตัวเลขประชากรเฉลี่ย 189,110 คนต่อจำนวน ส.ส. 1 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.ที่เป็นสัดส่วนคนเจนแซดถึง 32 คนเลยทีเดียว

คนเจนแซดเกิดมาในโลกยุคดิจิทัล ไม่รู้จักอะนาล็อก ไม่รู้จักภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชอบ Gig Economy การทำงานในระยะสั้น ชอบบริการแบบส่งของถึงที่ ชอบอุปกรณ์ใหม่ๆ ถือเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจและสังคมในยุคนี้เป็นอย่างยิ่ง

จากการศึกษา พฤติกรรมของคนเจน Z พบว่า

คนเจนแซดชอบดูวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่าเจนอื่น คน Gen Z 70% ชอบดูวิดีโอยูทูบ เฉลี่ยวันละประมาณ 2 ชั่วโมง 72% อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ

คน Gen Z ไม่ชอบการสื่อสารที่ต้องอ่านอะไรยาวๆ เพราะมีสมาธิสั้น จดจ่ออยู่กับสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน

...

คน Gen Z ชอบอยู่กับความจริง คน Gen Z 63% อยากติดตามเรื่องราวของคนธรรมดามากกว่าดาราคนดัง ชอบฟังเรื่องเล่า และรับสารผ่านมือถือเท่านั้น

ประเทศที่จะมีคน Gen Z มากที่สุดในโลกในปี 2019 คือ อินเดีย ที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ปีหน้าจะมีคน Gen Z ถึง 472 ล้านคน รองมาเป็น ประเทศจีน ที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ปีหน้าจะมีประชากร Gen Z ราว 312 ล้านคน

ถ้าเอาพฤติกรรมของคนเจน Z จากงานวิจัยที่ผมเล่ามาตอนต้น ผู้นำประเทศอินเดียและจีนคงปวดหัวน่าดู ต่อให้เป็นผู้นำที่เก่งมีอำนาจเด็ดขาดอย่าง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคใหม่ ก็คงสู้รบปรบมือกับคน Gen Z กว่า 300 ล้านคนได้ยาก เพราะมีพฤติกรรมแตกต่างจากคนเจน Y เจน X คนแก่ยุคเบบี้บูมเมอร์สิ้นเชิง ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ผมว่าเป็นอนาคตใหม่ของสังคมโลกที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

ประเทศไทยมีคน Gen Z ที่เกิดปี ค.ศ.2001 หรือ พ.ศ.2544 ที่จะมีอายุครบ 18 ปีในปีหน้า แม้จะมีจำนวนไม่มาก เพียง 6 ล้านคน 10% ของประชากร 66 ล้านคนเศษ แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% หรือ 1 ใน 4 ของประชากร 66-67 ล้านคน ที่ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่เหล่านี้จ่ายภาษีเลี้ยงดู แต่ดูจากพฤติกรรมของคนเจนแซดแล้ว เห็นท่าอนาคตคนแก่ไทยจะลำบาก

ผมเสียดายที่คนทำวิจัย ไม่ได้วิจัยในประเด็น คนเจน Z กับการเลือกตั้ง ถ้ามีองค์กรไหนจะทำตอนนี้ก็ยังไม่สายนะครับ จะได้รู้ว่าคนไทยรุ่นใหม่ชอบนักการเมืองแบบไหน

แต่ในทางลึก ผมเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย ทำวิจัยแน่นอน กองทัพไซเบอร์ ของ กองทัพไทย ก็คงทำเช่นเดียวกัน เพื่อประเมินความได้เปรียบเสียเปรียบ และการสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่ ไม่งั้น คงไม่ห้ามการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้ว่า โซเชียลมีเดียจะเป็นอาวุธใหม่ทางการเมือง ในการเลือกตั้งปีหน้า แม้จะห้ามสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการหาเสียงบนโซเชียลมีเดียอยู่ดี ผมเชื่ออย่างนั้น.

ลม เปลี่ยนทิศ