ห้าปีที่ผมอยู่ยะลา เรื่องเล่าสนุกฝังใจ คือเรื่องผู้เฒ่าเจ้าตำนาน “คำผวน” วันหนึ่งผู้เฒ่านั่งจักตอกหน้าบ้าน หนุ่มหนึ่งซึ่งกำลังลำพอง ว่าเป็นยอดฝีมือคำผวนไร้เทียมทาน ก็มากราบกรานขอท้าพิสูจน์วิชา

“อ๋อ...ได้” ผู้เฒ่าลากคำอ๋อในลำคอ...ยาว ถึงคำ “ได้” ก็เงยหน้า ฟังแค่นี้หนุ่มลำพอง ก็ไม่พูดอะไรต่อ ก้มลงกราบ แล้วก็เดินกลับบ้าน

เจ้าหนุ่มเจอผู้เฒ่า ที่ไม่ต้องคิดอะไร แค่คำตอบรับ “อ๋อได้” ที่ผวนคำเป็น “ไอ้ดอ” ด่ากลับแบบสุภาพตามแบบฉบับนักเลงได้ ...เชี่ยวชาญคำผวนระดับนี้ ใครเล่าในแผ่นดินจะสู้

อีกเรื่อง เรื่องนี้เจาะจงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช “เชื่อหรือไม่ ใบจากเมืองคอนปูนอนได้”

ใบจากบ้านพ่อแม่มึงซี ใหญ่ขนาดคนปูนอน คำเฉลย ก็คือไม่ใช่คนนอน แต่ที่นอน คือปู

เรื่องเล่าคุยกันเล่นๆทำนองนี้ เชื่อมโยงไปถึงเรื่อง คนเมืองคอน โกหกเก่ง จนมีหลักฐานศาลาโกหกอยู่ที่หน้าเมืองนครฯ

สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 เล่มที่ 8 สถาบันทักษิณคดีศึกษา เล่าเรื่องศาลาโดหก เอาไว้ว่า

ศาลาโดหก ตั้งอยู่หน้าประตูเมืองนครฯเก่า คือประตูชัยศักดิ์ ชาวบ้านเรียกประตูชัยเหนือ อยู่ทางด้านเหนือ ปัจจุบันอยู่ชิดถนนราชดำเนิน ระหว่างโรงเรียนกัลยาณีฯ กับจวนผู้ว่าฯ

ศาลาหลังนี้สร้างตามคตินิยมชาวภาคใต้ เป็นที่พักผ่อนหลบแดดบังฝนของคนเดินทาง ใช้เป็นที่พักแรมคนเดินทางไกล รอบๆศาลา มีต้นประดู่ใหญ่ให้ร่มเงาอยู่หกต้น

ชาวบ้านเรียก “หลาโดหก” หลา สำเนียงใต้คือศาลา โด คือประดู่ หลาโดหก คือศาลาที่มีต้นประดูหกต้น คำเรียก “ศาลาโดหก” คนต่างถิ่น ลากความไปเป็น ศาลาโกหก

แล้วก็มีเรื่องเล่า เติมแต่งทำนองว่า เป็นศาลาที่คนตกงาน นั่งชุมนุมคุยเรื่องโกหกกัน เล่ากันไปๆ เรื่องก็กลายเป็น คนเมืองนครเป็นคนพูดโกหกพกลม เชื่อไม่ได้

...

ความเข้าใจทำนองนี้ ใช่จะเกิดกับชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไป จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีความตอนหนึ่งว่า

ท่านพระยาไชยาคนเก่า มีผู้นับถือว่ามีอิทธิฤทธิ์มาก อยากกินเนื้อท่านไม่ต้องไปป่า ยิงปืนจากบ้านกระสุนจะไปถูกเนื้อจนได้ ฟังดูกระสุนปืนท่านเก่งเหมือนศรพระราม

แต่ก็ต้องเข้าใจ เมืองไชยา ค่อนๆมาทางเมืองนคร จึงใกล้ศาลา (โกหก) สำคัญเข้าไปหน่อย

ถึงขนาดเจ้านายผู้ใหญ่ เข้าใจอย่างนี้ เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช ทรงเห็นเป็นเรื่องเสียหายแก่ชาวเมืองนคร ทรงให้เปลี่ยนชื่อศาลาโดหกเสียใหม่ เป็น “สัจจศาลา” ศาลาความจริง

ชาวเมืองนครไม่ว่าอะไร แต่ปราชญ์อย่างพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ท่านไม่ยอม ท่านว่า เรื่องศาลาโกหก เป็นเรื่องพูดกันเล่นๆ หากยอมรับการเปลี่ยนชื่อ ภายหน้าคนรุ่นต่อๆไป ก็จะคิดว่าเป็นศาลาโกหกจริง

เรื่องจริง ก็จะกลายเป็นเรื่องโกหก เรื่องโกหกกลายเป็นเรื่องจริง จนจับต้นชนปลายไม่ถูก

ท่านเอาจริงถึงขั้น แต่งเรื่องนี้เป็นเพลงบอก ให้ลูกเสือนครฯเอาไปร้องในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติในกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ.2470

เรื่องเล่าในวงเหล้า ข้อแก้ศาลาโกหกไม่มีที่เมืองนครฯ คนนครไม่ใช่คนโกหก ที่ผมฟังหลายหนจนติดใจ

ศาลาโกหกเมืองคอนตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะศาลาโกหก ที่ชุมนุมของจอมโกหกทั้งหลาย ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ นานเต็มที

ไม่เชื่อ ก็ลองฟัง นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น ฝ่ายที่ดูดคนอื่น ฝ่ายที่ถูกดูด กระทั่งฝ่ายที่ย้ายข้าง ดูก็ได้ คนแก่อย่างผมฟังแล้วไม่เข้าใจ ทำไม จึงหาคนที่พูดจริงๆ...สักคนไม่เจอ

ฟังแล้วรำคาญ จนอยากจะด่า “อ๋อ...ได้” ก็กลัวคนรุ่นใหม่ผวนคำไม่เป็น.

กิเลน ประลองเชิง