ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายตั้งแต่ยุค 2G เปลี่ยนผ่านเป็น 3G และ 4G ทำให้การสื่อสารด้วยภาพ เสียง และวิดีโอเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่วันนี้เทคโนโลยี 5G กำลังจะเข้ามามีบทบาทในโลกอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเริ่มใช้เงินเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เทคโนโลยี 5G คล้ายคลึงกับ 3G และ 4G ตรงที่มีการพัฒนาความเร็วในการรับส่งข้อมูลและรองรับปริมาณข้อมูลได้มากขึ้น 5G ไม่ใช่ การเข้ามาแทนที่ 4G และ 3G แต่จะเป็นการ ช่วยสนับสนุน และ ขยายโอกาส ในการสร้างสรรค์บริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุมควบคู่ไปกับ 4G และ 3G ทั้งนี้คุณสมบัติหลักของ 5G ประกอบด้วย
1.ความเร็วในการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Enhanced Mobile Broadband : eMBB) ใช้สำหรับกิจกรรมออนไลน์ที่ใช้แบนด์วิดท์จำนวนมาก เช่น ดูวิดีโอ เล่นเกมออนไลน์ การใช้งานความจริงเสริม (AR) ความจริงเสมือน (VR) ช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรข้ามอุตสาหกรรม ส่งเสริมการศึกษาผ่านบรอดแบนด์ พัฒนาศักยภาพการค้าขายออนไลน์ รวมถึงระบบเมืองอัจฉริยะ
2.ความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำมาก (Ultra-Reliable and Low Latency Communications : uRLLC) เทคโนโลยี 5G สามารถรับส่งข้อมูลด้วยความหน่วงในระดับต่ำมาก ต่ำกว่า 4G ถึง 10 เท่า ทำให้การส่งข้อมูลเป็นแบบเรียลไทม์มากขึ้น เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง หรือความผิดพลาดเกือบเป็นศูนย์ เช่น ระบบควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบแพทย์ระยะไกล
3.ความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากพร้อมกันโดยใช้พลังงานต่ำ (Massive Machine Type Communications : mMTC) เทคโนโลยี 5G สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากถึง 200,000-1,000,000 เครื่องต่อตารางกิโลเมตร และยังลดปริมาณการใช้พลังงานสำหรับการเชื่อมต่อมากกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า ต่อไปโรงงานต่างๆจะใช้เครื่องยนต์ในการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ โดยที่เครื่องยนต์แต่ละชิ้น จะสื่อสารกันได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
...
คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้กล่าวในงานสัมมนา “เทคโนโลยีพลิกโลก : ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงในไทย” ว่า เทคโนโลยี 5G จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ หากไทยไม่สามารถผลักดันให้มี 5G ใช้ได้แล้ว เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2573 โดยภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เสียหายมากกว่า 7 แสนล้านถึง 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นผลกระทบจากการไม่สามารถทำให้ประเทศเข้าสู่ สมาร์ทซิตี้ การเรียนการสอน การท่องเที่ยว และ บริการสุขภาพ
คุณฐากรบอกด้วยว่า กสทช.ตั้งเป้าจะให้ประเทศไทยได้ใช้เทคโนโลยี 5G ภายใน เดือน ต.ค.2563 โดยได้เตรียมความพร้อมเรื่อง คลื่นความถี่ ไว้รองรับแล้ว เช่น คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ 28 กิกะเฮิรตซ์ จะนำมาปรับปรุงใช้งาน “ประเทศไทยเข้าสู่ 3G ช้ากว่านานาประเทศราว 11 ปี เข้าสู่ 4G ก็ช้ากว่า 6 ปี ฉะนั้น การเข้าสู่ยุค 5G เราควรดำเนินการพร้อมๆกับประเทศอื่น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ไทยต้องตามให้ทัน”
จริงอย่างที่คุณฐากรบอก ยุคนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ก้าวกระโดดเป็นทวีคูณ ใครมาช้าก็เสียโอกาส ดูอย่างประเทศจีนแค่ไม่กี่ปีก็พัฒนาเมืองหลายเมืองเป็นสมาร์ทซิตี้ ขยายอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก
วันนี้ผมขอร่วมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันสนับสนุนให้เกิด 5G ยิ่งรัฐบาลจะวางยุทธศาสตร์ชาติ ยิ่งต้องผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ ขืนล่าช้าไทยจะยิ่งล้าหลังครับ.
ลมกรด