ผมนั่งค้นหนังสือ ตั้งใจหาเรื่องที่อ่านแล้วสบายใจ...ก็เจอเรื่องที่ 9 จากเรื่องคมๆความหมายชวนคิด (สุริยเทพ ไชยมงคล สำนักพิมพ์อินสไปร์ พ.ศ.2553) ชื่อเรื่องรสชาติของความยาก
นักเดินทางรอนแรมไปถึงชนบทเมืองไกลเขาเห็นชาวนาเกี่ยวหญ้าไปให้อาหารวัวด้วยวิธีประหลาด...แทนการเกลี่ยหญ้าลงบนลานให้วัวกินได้ง่ายๆ ชาวนากลับโยนหญ้าขึ้นไปบนหลังคากระท่อม
“แล้ววัวมันจะกินได้ยังไง” นักเดินทางถาม
“ถ้าข้าวางหญ้าไว้บนพื้น วัวจะไม่กิน” เหตุผลของชาวนา “หญ้าพันธุ์นี้ทั้งแข็งเคี้ยวยาก รสชาติก็ไม่อร่อย เมื่อเอามันขึ้นบนหลังคากระท่อม วัวต้องยืดคอขึ้นไปกิน มันก็จะกินได้ทีละนิด แล้วมันก็จะกินหญ้าเหล่านั้นจนหมด”
มีคำอธิบาย ความหมายชวนคิดของเรื่องนี้ว่า ชีวิตคือความท้าทาย คนเราต้องเดินไปข้างหน้า หากไม่เจอพายุฝน แล้วจะเห็นสายรุ้งได้อย่างไร
หญ้ากองนั้นหากวางไว้ที่พื้น โดยนิสัยวัว จะไม่เหลียวแล แต่เมื่อวางมันไว้บนหลังคาที่วัวต้องใช้ความพยายาม มันก็จะตั้งหน้าตั้งตากิน
คนเราก็เช่นกัน สิ่งใดได้มาง่ายเกินไปมักไม่ถนอมรักษา แต่พอมันหายจึงจะรู้คุณค่า
จางอ้ายหลิง นักเขียนชื่อดังชาวจีน เป็นตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้
เรื่องราวของเธอตั้งแต่เธอยังเด็ก เธอเป็นเจ้าของประโยค ต้องเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่ออายุยังน้อย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
แต่เรื่องราวต่อมาก็คือ เธอควรจะรู้ว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว ต้องหาเงินตอนอายุมาก จึงจะรู้ค่าของเงิน เพราะเงินจำนวนมาก ที่เธอทำมาหาได้ตอนอายุน้อยนั้น มันละลายหายไปง่ายดาย
ชีวิตบั้นปลายจางอ้ายหลิง เธอสูญเสียทั้งทรัพย์สิน และความรัก
เรื่องของจางอ้ายหลิงสอนให้รู้จักความสูงของความท้าทาย ไม่พยายามไม่สำเร็จแน่นอน แค่ออกแรงอีกนิดก็จะสำเร็จ โอกาสและความท้าทายมักอยู่ด้วยกันเสมอ
...
ถ้าหากแป้นสูงเกินไป จนแทบโยนลูกบาสเกตบอลไม่ลง หรือมีเพียงความท้าทาย แต่ไม่มีโอกาส เกมนี้ย่อมไม่มีความหมาย แต่ถ้าแป้นบาสเกตบอลอยู่ต่ำเกินไป ใครก็โยนลูกลงห่วงได้ง่ายๆ ไม่มีความท้าทายเอาเลย
เกมนี้ก็ไม่มีความหมาย ชวนให้ใครเข้าไปแข่งขัน
“จงรีบหาความสูงที่เหมาะสม และท้าทายความสามารถ” คำแนะนำสำหรับทุกคนที่มีเป้าหมายแห่งชัยชนะ
ผมอ่านเรื่องนี้ในอารมณ์จมดิ่ง อยู่กับเวลา วินาที ต่อวินาที ของการระดมพลังแรง พลังปัญญา ช่วย 13 ชีวิตที่ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
นักข่าวทีวีช่องหนึ่งย้ำว่า ทุกพลังที่มาช่วย ภาครัฐ ภาคเอกชนใหญ่ๆ ในทางธุรกิจเคยเป็นคู่แข่งขัน คนเก็บรังนักจากเกาะลิบง ฯลฯ จนถึงชาวเขาหลายเผ่า ที่มาทำพิธีบวงสรวงตามความเชื่อ
ผู้คนเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพวกปิดทองหลังพระ
พระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศฯ เคยมีพระราชดำรัส สอน พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ไว้ว่า
ปิดทองหลังพระให้มากๆเข้าไว้ ไม่ช้าทองก็จะล้ำมาถึงหน้าพระเอง
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติของความยาก เรื่องเล่าของชาวนา แต่เป็นพลานุภาพของความยาก ซึ่งสามารถวัดขนาดความรักความสามัคคีของคนไทย ซึ่งใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆในบ้านเมืองของเรา.
กิเลน ประลองเชิง