ข่าวใหญ่ที่กลายเป็นข่าวเล็ก เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศต่างใจจดใจจ่อ อยู่กับชะตากรรมของทีมฟุตบอลหมูป่า 13 ชีวิต ต่างเฝ้าภาวนาให้อยู่รอดและกลับบ้านโดยปลอดภัย อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็กินยาฆ่าตัวตาย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องกับคนใหญ่คนโต และไม่ได้เสียชีวิตตามธรรมชาติ  (ปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต ถ้ำหลวงเชียงราย)

มูลเหตุจูงใจให้คิดสั้นก็ไม่ธรรมดา แต่เป็นการตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม หลังจากที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยไม่ได้รับเงินเดือน และถูก ปปง.ร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีข้อหาทุจริตยักยองเงินช่วยเหลือคนจน และร่วมกันฟอกเงิน รวม 12 คน และยังถูกอายัดทรัพย์ เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปอีกด้วย

อดีตปลัดกระทรวง พม.ท่านนี้ ได้แก่ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ถูกตรวจสอบหลังจากที่กรณีโกงเงินคนจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เป็นการทุจริตแบบเป็นขบวนการ เกี่ยวโยงทั้งข้าราชการระดับผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จนถึงปลัดกระทรวง มีทั้งข้าราชการระดับสูงและระดับล่าง ทรัพย์สินที่ถูกอายัดมูลค่า 88 ล้านบาท

โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ขอฝากกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับข้าราชการ ในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการทุจริตที่ถูกเปิดโปง ในช่วงรัฐบาล คสช. เช่นเดียวกับ คดีทุจริตเงินทอดวัด ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระเป็นตัวการ แต่ต้นตอที่แท้คือ ข้าราชการ และยังมีการทุจริตงาบทุนการศึกษา การทุจริตโกงอาหารกลางวันนักเรียน และอื่นๆอีกมาก

ตัวอย่างเช่นการทุจริตในกระทรวง ศึกษาธิการ ที่ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการเปิดโปง มีการตรวจสอบอยู่กว่า 50 คดี รวมทั้งกรณีการติดตั้งกล้องวงจรปิดใน ร.ร.จังหวัดชายแดนภาคใต้ 577 ล้านบาท และมีเรื่องที่ได้รับร้องเรียนใหม่ กรณีเรียกรับเงินผู้สอบแข่งขันเป็นครู ใน 2–3 จังหวัดภาคอีสาน รายละ 2 แสนบาท และเป็นขบวนการ

...

ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจน พิสูจน์ว่าการทุจริตโกงกินยังรุ่งเรืองเฟื่องฟู ในยุคที่ประเทศไร้นักการเมือง และปกครองโดยรัฐบาลข้าราชการ ที่ไม่มีการตรวจสอบโดย ส.ส. ทั้งในและนอกสภา แต่เป็นการตรวจสอบในหมู่ข้าราชการด้วยกันเอง แม้จะยังมีองค์กรอิสระ แต่บางองค์กรอาจขาดความเป็นอิสระ การตรวจสอบจึงยึดหลักเพื่อนพ้องน้องพี่

เรื่องนี้ไม่ใช่การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า สตง.เคยเตือนทั้งกรณีเงินทอนวัด และกรณียักยอกเงินคนจน ก็เคยขอให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ จนเกิดเสียหายใหญ่โต เป็นบทเรียนของข้าราชการทุกคน.