เมื่อคืนวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้สูญเสียบุคคลสำคัญทางด้านธุรกิจการเงินและการธนาคารไปอีก 1 ท่าน ได้แก่ เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
หนังสือพิมพ์เช้าเกือบทุกฉบับในวันรุ่งขึ้นพาดหัวข่าวการเสียชีวิตของเจ้าสัวไว้บนหน้า 1 พร้อมรายงานโดยละเอียดว่า เจ้าสัวซึ่งมีอายุ 85 ปี ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หลังจากที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลดังกล่าวหลายครั้ง
สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานไว้ตอนหนึ่งว่า “เจ้าสัวชาตรีเข้ามาบริหารธนาคารกรุงเทพเป็นรุ่นที่ 2 โดยรับไม้ต่อจากนาย ชิน โสภณพนิช ซึ่งเป็นบิดาและเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ”
“ในช่วงที่นายชาตรีบริหารงานได้ใช้ความรู้ความสามารถจนนำพาธนาคารกรุงเทพขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 1 ของประเทศไทย ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับนาย ชาติศิริ โสภณพนิช บุตรชายคนโตเป็นผู้บริหารและเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยนายชาตรีขยับขึ้นไปเป็นประธานกรรมการ”
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐยังลงประวัติการทำงานของเจ้าสัวชาตรีอย่างละเอียด แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นธนาคารที่บิดาของท่านเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ แต่เจ้าสัวชาตรีก็ยังต้องทำงานหนักและเริ่มจากงานระดับล่างๆ ก่อนที่จะไต่เต้าและขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้นั้นต้องใช้เวลาถึง 32 ปี
แม้ธนาคารกรุงเทพจะลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนามาตั้งแต่ยุคนายห้าง ชิน โสภณพนิช ซึ่งมีอาจารย์ใหญ่ บุญชู แสงเสถียร เป็นมือขวาแล้วก็ตาม
แต่การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเกิดขึ้นอย่างมากในยุคที่เจ้าสัวชาตรีเข้ามารับไม้ต่อจากนายห้างชินอย่างเห็นได้ชัด
เหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกและนำความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาใช้กับธนาคารกรุงเทพโดยไม่ลังเล
...
อีกเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่ท่านให้ความสำคัญกับบุคลากรและพร้อมที่จะรับบุคลากรที่มีความสามารถในหลายๆด้านเข้ามาทำงานในองค์กรที่ท่านดูแลอยู่
ผมเคยคุยกับบุคคลชั้นนำของประเทศ 2-3 ท่านที่เจ้าสัวชาตรีดึงไปทำงานด้วย ทำให้ทราบถึงคุณสมบัติของเจ้าสัวในประเด็นนี้
คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ผมรู้จัก ที่ได้รับการทาบทามจากเจ้าสัวชาตรีให้ “ไปทำงาน ด้วยกัน” ทันทีที่ทราบข่าวว่า คุณโฆสิตพ้นจากตำแหน่งที่สภาพัฒน์
ผมไม่แน่ใจว่า คุณโฆสิตไปร่วมงานในตำแหน่งใดในครั้งแรก แต่ล่าสุดก็คือ ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ และได้กลายเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งจาก “วงนอก” ที่นำประสบการณ์ในฐานะข้าราชการนักพัฒนาของเขา ไปขยายผลและต่อยอดจนส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพก้าวหน้าขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
นอกจากคุณโฆสิตแล้ว ผมทราบว่าท่านยังเชิญบุคคลที่มีความสามารถไปร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพอีกหลายท่าน โดยเฉพาะในระดับ “กรรมการธนาคาร” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายขององค์กรนั้น ท่านเจ้าสัวจะพิจารณาและไปเรียนเชิญด้วยตนเอง
ผมเห็นด้วยกับคำว่า “ตำนานเจ้าสัวแบงก์” ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐใช้เรียกขานท่านในรายงานข่าวช่วงหนึ่ง เพราะกล่าวไปแล้ว ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานธนาคารกรุงเทพอย่างไม่มีทางที่จะปฏิเสธได้
ก่อนปิดตำนานในส่วนของท่าน...ท่านได้ส่งไม้ต่อให้แก่รุ่นที่ 3 คือ คุณชาติศิริ โสภณพนิช บุตรชายของท่านเป็นที่เรียบร้อย และเท่าที่ทราบบุตรชายของท่านก็ทำหน้าที่ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ของแบงก์บัวหลวงได้เป็นอย่างดี
หลับให้สนิทเถอะครับ เจ้าสัวชาตรี เพราะบุคลากรรุ่นใหม่ของบัวหลวงหลายๆท่าน ที่ผมมีโอกาสสัมภาษณ์และพูดคุยด้วยล้วนมีความสามารถที่จะรับไม้ต่อจากท่านเพื่อสร้างตำนานบัวหลวงให้ยืนยาวต่อไปได้อีกนานแสนนานอย่างแน่นอนในอนาคต.
“ซูม”