ผมเขียนทิ้งท้ายคอลัมน์เมื่อวานนี้ว่า ขณะที่กำลังเขียนถึง “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ปีนี้ที่ชักชวนให้ช่วยกันลดการใช้พลาสติกอยู่นั่นเอง ก็มีแม่บ้านของโรงพิมพ์นำเอกสารมาส่งให้อีกชุดหนึ่ง
บังเอิญจริงๆครับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน และก็เป็นปัญหาเรื่องขยะพลาสติกคล้ายๆกัน แต่เน้นไปที่เรื่องราวของบ้านเราโดยตรง
ผมก็เลยต้องขออนุญาตล่วงหน้าไว้ตั้งแต่เมื่อวานว่า วันนี้คงจะต้องเขียนต่ออีกสักวัน เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องต่อเนื่องกันพอดีเป๊ะ
เจ้าของเอกสารที่ว่านี้ก็คือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทะเลและชายฝั่งทะเลของประเทศไทยนั่นเอง
แจ้งมาว่าวันนี้ (ศุกร์ที่ 8 มิถุนายน) เป็น “วันทะเลโลก” ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญของโลก ที่ผมเรียนท่านผู้อ่านว่ายุคนี้มีเกือบทุกวัน จนจำแทบไม่หวาดไหว
ในฐานะที่ประเทศไทยของเราเป็นภาคีของโลกอยู่ด้วย เมื่อโลกเขามีวันสำคัญอะไรและจัดงานฉลองวันนั้นๆอย่างไร เราก็พร้อมที่จะร่วมด้วยเสมอๆ
รวมทั้งใน “วันทะเลโลก ปี 2018” ที่จะมาถึงในวันนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของไทยเรา ก็จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองพร้อมกับถือโอกาสชี้แจงแถลงไขถึงปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งทะเล และในทะเลไทยให้ประชาชนรับรู้รับทราบควบคู่กันไปด้วย
โดยจะมีการแถลงข่าวให้ทราบถึงข้อมูลล่าสุด รวมถึงการแสดงความคิดเห็น และมีพิธีการให้คำมั่นสัญญาขององค์กรและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ที่ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัยฯ สยามพารากอน ตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป
จะมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ไปเป็นประธานในการเปิดงานและจะตบท้ายด้วยการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “เพียงผีเสื้อขยับปีก” เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้ดูชมกันด้วย
...
ผมคงไม่มีโอกาสไปร่วมงานในวันนี้ แต่ขอเอาใจช่วยให้มีคนไปร่วมงานเยอะๆนะครับ เพื่อจะได้ไปรับรู้ รับฟัง ปัญหาเกี่ยวกับทะเลไทย และช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป
ประเทศไทยเรามีพื้นที่ทางทะเล 323,488 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด
เรามีจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเลรวม 23 จังหวัด เกาะต่างๆอีก 900 เกาะใน 19 จังหวัด ทำให้ในปี 2559 มีปริมาณขยะเกือบ 3 ล้านตัน และเป็นขยะพลาสติกประมาณ 340,000 ตัน
แม้จะมีระบบจัดเก็บและทำลายที่ดีพอสมควร แต่ขยะจากจังหวัดและเกาะดังกล่าวนี้ ก็ยังหลุดรอดลงไปในทะเลมากถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 30,000-50,000 ตันต่อปี
ติดอันดับ 6 ของโลก ในประเภททิ้งขยะลงทะเลเยอะด้วยประการฉะนี้แหละครับ ซึ่งเป็นอันดับโลกที่ไม่น่าภาคภูมิใจแต่อย่างใดเลย
แม้ทุกวันนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการและลดปริมาณขยะลงทะเล โดยได้จัดทำโครงการ “ประชารัฐขจัดขยะทะเล” ขึ้นแล้วก็ตาม
รวมทั้งดำเนินการจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญด้วยทุ่นกักเก็บขยะ แต่ก็สามารถสกัดกั้นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
การแก้ปัญหาการทิ้งขยะลงแม่น้ำ (ซึ่งในที่สุดก็ไหลออกทะเล) รวมไปถึงการทิ้งลงทะเลโดยตรงเป็นเรื่องของทุกๆฝ่าย และทุกๆคนในบ้านเราที่จะต้องร่วมมือกัน
พยายามลดการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ลดการใช้ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก หรือวัสดุพลาสติกต่างๆลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
โดยเฉพาะการทิ้งลงน้ำลงทะเลจะต้องระวังให้มากที่สุด
ขอขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กรุณาส่งข้อมูลต่างๆมาให้ผมใช้เขียนในวันนี้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยในการที่จะช่วยให้คนไทยเราทิ้งขยะลงทะเลลดลง
เนื่องใน “วันทะเลโลก” วันนี้ มาช่วยกันทำให้ “ทะเลไทย” ใสสะอาดและช่วยกันปลดล็อกการถูกประจานว่าเราเป็นชาติที่ทิ้งขยะลงทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลกให้จงได้นะครับ.
“ซูม”