ถ้าพูดถึง “อเมซอน” คนทั่วโลกจะคิดถึงอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับคนไทยคงนึกถึงร้าน Café Amazon กาแฟแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หนึ่งในธุรกิจนอนออยล์ของ ปตท.

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 22 ได้ไปศึกษาดูงานที่ สถาบันพัฒนาศักยภาพธุรกิจน้ำมัน Oil Business Academy (OBA) และ ศูนย์ธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน Amazon Inspiring Campus (AICA) ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี คุณอรรถวุฒิ วิกิตเศรษฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คุณนิวดี เจริญสิทธิพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพธุรกิจน้ำมัน ให้การต้อนรับ

OBA เป็นศูนย์รวมความรู้และประสบการณ์ของธุรกิจน้ำมันที่มีมากว่า 40 ปี ตั้งแต่ครั้งเป็นปั๊มสามทหาร ใช้เป็น สถานที่ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ภายในประกอบด้วยห้องอบรม 5 ห้อง ห้องจำลองการเรียนรู้ Simulation Room 7 ห้อง (ห้องสถานีบริการน้ำมัน ห้องฝึกอุปกรณ์การชำระเงินและบัตรต่างๆ ห้องระบบการจ่ายน้ำมัน ห้องน้ำมันหล่อลื่น ห้องน้ำมันอากาศยาน ห้องก๊าซปิโตรเลียมเหลว และห้องวีดิทัศน์) ห้องจัดเลี้ยง ห้องเตรียมอาหาร ห้องสมุด และห้องนิทรรศการ

องค์ความรู้บางอย่างมีความละเอียดลึกซึ้งกว่าปั๊มน้ำมันต่างชาติเสียอีก โดยเฉพาะเรื่อง วัฒนธรรม ของคนไทย ปั๊มต่างชาติที่มาเปิดกิจการในเมืองไทยมีหลายแบรนด์ที่อยู่ไม่รอด เพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนไทยดีพอ

ในแต่ละวันจะมีพนักงานในกลุ่ม ปตท. ลูกค้า คู่ค้า รวมถึงเครือข่ายทางธุรกิจ มาอบรมความรู้ที่ OBA แม้แต่เด็กนักเรียนเก่งๆที่เป็นตัวเก็งสอบเข้าคณะวิศวกรรม บางโรงเรียนก็ส่งมาศึกษาดูงานที่นี่ เนื้อหาและระดับความเข้มข้นในการบรรยายก็จะแตกต่างกันไป ปี 2559 มีคนมาศึกษาดูงานจำนวน 12,000 คน ปี 2560 มีเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 คน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 30% ที่เป็นชุมชนรวมตัวกันมา

...

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคดิจิทัลทำให้ OBA มีแนวคิดจะปรับบทบาทจากการเป็น Storage of Knowledge ไปสู่การเป็น Flow of Knowledge โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นำความรู้ไปแชร์ให้ทุกคนได้ศึกษา จะที่ไหนเมื่อไหร่ก็เรียนรู้ได้ผ่านสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตคอมพิวเตอร์

สำหรับ AICA เป็นศูนย์ธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.ศูนย์นิทรรศการการเรียนรู้ ให้ข้อมูลตั้งแต่แหล่งเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ การคัดสรรเมล็ด ขั้นตอนการคั่วบด ไปจนถึงการชงกาแฟให้ได้กลิ่นและรสชาติครบถ้วนสมบูรณ์ 2.ศูนย์ฝึกอบรมบาริสต้า ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการแก่เจ้าของและพนักงานร้าน Café Amazon 3.โรงคั่วกาแฟ มีกำลังการผลิต 7,200 ตันต่อปี ทุกเมล็ดเป็นกาแฟในประเทศ โดยรับซื้อจากโครงการหลวงทั้งหมด และวิสาหกิจชุมชน

ร้านคาเฟ่ อเมซอน ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2545 สาขาแรกเปิดที่ปั๊ม ปตท.ของ หจก.ศรีเจริญภัณฑ์ ถนนวิภาวดี ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้ความปลอดภัยแก่นักเดินทาง เหนื่อยล้าง่วงก็หยุดพักดื่มกาแฟ สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟในปั๊ม บางวันมีคนดื่มแค่ 20 แก้วเอง ทำให้ 2 ปีแรกขาดทุนอย่างมาก แต่พอเข้าสู่ปีที่ 3 ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน เทรนด์ดื่มกาแฟเริ่มมา กิจการจึงดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นร้านกาแฟอันดับหนึ่งของคนไทย

ปัจจุบันร้านคาเฟ่ อเมซอน มีอยู่ประมาณ 2,100 สาขา มียอดจำหน่าย 178 ล้านแก้ว ซึ่งเป็นร้านที่ ปตท.บริหารเอง 10% อีก 90% เป็นร้านแฟรนไชส์ ถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ปตท.มีแผนขยายสาขาภายใน 5 ปี (2561–2565) เป็น 4,700 สาขา

ไม่ใช่แค่คนไทยที่ติดใจกลิ่นและรสชาติ แม้แต่เพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนก็ชื่นชอบร้านคาเฟ่ อเมซอน เช่นกัน มีการเปิดสาขาที่ต่างประเทศกว่า 130 สาขา มีที่ ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ พม่า และล่าสุดเพิ่งเปิดที่ญี่ปุ่น เพิ่มอีกหนึ่งสาขา

ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จล้วนเคยล้มลุกคลุกคลานมาก่อน.

ลมกรด