สมาร์ทโฟนและสื่อโซเชียลทำลายล้างเทคโนโลยีรุ่นเก่าราบคาบ ยุคดิจิทัลทำให้ทุกคนเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลา กระแสในสื่อโซเชียลก่อให้เกิดพลังผลักดันในหลายเหตุการณ์ อย่างเช่นกรณีเจ้าสัวล่าเสือดำ หรือฉากดราม่าป้าทุบรถ แม้กระทั่งซีรีส์นาฬิกาหรูของรองนายกฯก็ถูกเปิดประเด็นจากสื่อโซเชียล

การเมืองในหลายประเทศ สื่อโซเชียลมีส่วนสำคัญต่อผลแพ้ชนะการเลือกตั้ง บางครั้งทำให้ผู้แพ้กลายเป็นผู้ชนะได้ในชั่วข้ามคืน สำหรับประเทศไทยซึ่งว่างเว้นการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 และปัจจุบันอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร ระบบถ่วงดุลและองค์กรตรวจสอบง่อยเปลี้ยเสียขา เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองถูกปิดกั้น สื่อโซเชียลถือเป็นช่องทางระบายออก และช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างดี

ในงานเสวนา “พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทยจริงหรือ?” ซึ่งสถาบันอิศราร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อาจารย์ปริญญากล่าวว่า สื่อโซเชียลทำให้คนอยู่ด้วยความจริงมากขึ้น เพราะมีการตรวจสอบสอดส่องพฤติกรรมตลอดเวลา สมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนกล้องซีซีทีวีเคลื่อนที่ การกระทำผิดใดๆอาจถูกบันทึกเป็นหลักฐานได้ตลอด ทำให้การกระทำผิดในสังคมน้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะต้องระวังตัวมากขึ้น รวมถึงนักการเมืองก็ต้องระวังตัวมากขึ้นเช่นกัน

อาจารย์ปริญญากล่าวด้วยว่า ในแง่ของประชาธิปไตย สื่อโซเชียลมีผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Smart Democracy ทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญน้อยลง เพราะกว่าพรรคการเมืองจะได้รับการเลือกตั้ง และนำเอาความเห็นของประชาชนมาเป็นนโยบาย ต้องใช้เวลานาน ในขณะที่สื่อโซเชียลจะทำให้ ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยโดยตรงของทุกคน เพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น และทุกวันนี้การจะมาชุมนุมด้วยคนนับแสนก็ง่ายกว่าเมื่อก่อน

...

อาจารย์ปริญญากล่าวอีกว่า การมีสื่อโซเชียลทำให้เกิดการตั้งคำถาม และการตรวจสอบทางสังคมได้ง่าย ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแชร์ข้อมูลต่อกัน อย่างไรก็ตาม สื่อโซเชียลก็มีจุดอ่อน ยังมีข้อมูลเท็จ ถ้าคนรับสารขาดการพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก็จะตกเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ คนสุดโต่ง ก็หากันเจอได้มากขึ้นและง่ายขึ้น

ส่วนคุณอภิสิทธิ์มองว่า พลังโซเชียลสามารถเปลี่ยนการเมืองไทยได้ เพราะเรื่องของการเมืองเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่อิงกับข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไป ประเด็นคือเปลี่ยนไปในลักษณะไหน อะไรที่เป็นคุณ และอะไรที่เป็นโทษ จุดอ่อนของการใช้สื่อโซเชียลคือกระบวนการตรวจสอบไตร่ตรองก่อนที่จะแชร์ ปัญหาที่ทำให้คนกลุ้มใจมากที่สุดคือ ข่าวปลอม Fake News สามารถเผยแพร่ได้รวดเร็ว ทั้งยังกระทบต่อการทำผิดกฎหมาย บางทีผู้มีอำนาจอาจมองว่านี่เป็นภัยต่อความมั่นคง

คุณอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับผลกระทบต่อการเลือกตั้งนั้น มองว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปห่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 7 ปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่มีเพิ่มขึ้น 6-7 ล้านคน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลายปีที่ผ่านมาทำให้สื่อโซเชียลกลายเป็นสนามต่อสู้ทางการเมือง ผู้สมัครเลือกตั้งอาจจะใช้สื่อโซเชียลเป็นเวทีหาเสียงแทนเวทีหาเสียงแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจจะมีผู้เข้ามารับชมมากกว่าไปปราศรัยบนเวที

ผมขอตบท้ายเสริมประเด็นของคุณอภิสิทธิ์นิดเดียวคือ ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งหน้าใหม่ 7 ล้านคน (ประมาณ 15% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ) ล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ประชาธิปไตยจ๋าทั้งสิ้น.

ลมกรด