วันเสาร์สบายๆวันนี้มาพร้อมกับบรรยากาศช่วงปิดภาคเรียน ก็ขอถือโอกาสคุยเรื่องของเด็กๆในช่วงปิดเทอมซะหน่อยพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะมองหากิจกรรมให้บุตรหลานทำในช่วงปิดเทอมใหญ่ 2 เดือน คนในสังคมเมืองถ้าคิดอะไรไม่ออกก็จะให้ลูกหลานไปเรียนพิเศษ หากเป็นครอบครัวเศรษฐีมีฐานะอาจส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ ทั้งๆที่ตอนเปิดเทอมเด็กก็เรียนหนังสือเครียดกับวิชาการมาพอสมควรแล้ว ช่วงปิดเทอมจึงควรได้พักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์หรือทักษะด้านอื่นบ้าง
ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้แก่เด็กและเยาวชน แต่ก็ยังมีช่องว่างช่องโหว่อยู่ จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2559 ในส่วนของการใช้เวลากับกิจกรรมยามว่างของเยาวชน พบว่าเด็กไทยใช้เวลาในการเข้าอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่เข้าไปเล่นเกม หรือดาวน์โหลดเกม ขณะที่ การใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษา ค้นหาข้อมูลทางการเรียนรู้ มีแค่เพียง 31.8%
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือเยาวชนไทยติดเกมเป็นอันดับต้นๆของทวีปเอเชีย เล่นเกมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและและอินเตอร์เน็ตคอมพิวเตอร์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.2 ชั่วโมงต่อวัน และในจำนวนนี้มี10-15% ที่มีอาการเสพติดเกมออนไลน์ขั้นรุนแรง
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลของ ยูรีพอร์ต (เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน โดยคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของเด็กจะตั้งประเด็นคำถามเอง และส่งแบบสำรวจความเห็นไปยังสมาชิก) ที่ได้ทำโพลสำรวจสมาชิก 1,882 คน ในช่วงเดือน ธ.ค.60-ม.ค.61 พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ไม่ค่อยปลอดภัย และมี 35% คิดว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีพื้นที่สร้างสรรค์ (พื้นที่เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ) น้อย ขณะที่ 12% มองว่าไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในพื้นที่สร้างสรรค์ เพราะไม่ทราบช่องทางการเข้าถึง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 42% อยากให้รัฐบาลเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัย
...
เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง ในช่วงปิดเทอมนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ชั้นประถมต้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และนำมารวบรวมไว้ที่เว็บไซต์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com บอกไว้ละเอียดว่ามีกิจกรรมอะไร ที่ไหน เวลาใด
ผมอยากแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองลองเข้าไปดู เผื่อได้ไอเดียใหม่ หรือพบเจอกิจกรรมที่อยากให้ลูกหลานได้ลองสัมผัสฝึกฝน
กิจกรรมหลักแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.ตามหาฝัน ร้อง เต้น เล่นดนตรี ศิลปะ กีฬา 2.แบ่งปันสังคม ร่วมด้วยช่วยกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อผู้อื่น 3.ค้นหาตัวตน ไปฝึกงานในอาชีพที่ใช่ ทำงานหารายได้พิเศษ หรือฝึกทักษะชีวิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง 4.สนุก ฝึกฝน เปิดโลกเรียนรู้ ทำให้ได้รู้จักโลกกว้างขึ้น และเพิ่มจินตนาการ
ดูจากรายชื่อหน่วยงานที่มาเข้าร่วมโครงการแล้ว น่าจะเกิดความหลากหลาย และกระจายพื้นที่ไปได้ทั่วประเทศ ในส่วนขององค์กรภาครัฐ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงศึกษาธิการ กรมพลศึกษา กรมศิลปากร องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มิวเซียมสยาม TK Park ภาคเอกชน เช่น หอการค้าไทย บริษัทในเครือสหพัฒน์ เครือซีพี เดอะมอลล์กรุ๊ป เซ็นทรัลกรุ๊ป ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ธนาคารจิตอาสา
ถ้าเด็กได้เรียนรู้โลกกว้าง พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ค้นหาตัวเอง เสริมสร้างจินตนาการ เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา.
ลมกรด