โซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมมากที่สุดคือ “ไลน์” ประมาณการตัวเลขปัจจุบัน คนไทยเล่นไลน์เกือบ 40 ล้านบัญชี เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น แต่เรื่องที่เป็นข้อถกเถียงกันมาพักใหญ่คือการดำเนินธุรกิจของ “ไลน์ โมบาย” จากค่ายดีแทค ยังมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่ ซึ่งอาจกระทบต่อการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐและความมั่นคง
ค่ายดีแทคระบุว่า ไลน์ โมบาย เป็นบริการอย่างหนึ่งของดีแทค ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) แต่ไม่ใช่บริการในรูปแบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ไม่ได้วางโครงข่ายเอง แต่ไปเหมาจากเจ้าของโครงข่ายมาให้บริการต่ออีกทอดหนึ่ง
ดีแทคย้ำว่า รายได้ของไลน์ โมบายก็คือรายได้ของดีแทค ดังนั้นรัฐหรือ กสทช.จะได้รับรายได้ทุกบาททุกสตางค์เสมือนการให้บริการอื่นๆของดีแทค เท่ากับว่าดีแทคจ่าย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ยูเอสโอ) รวมกันในอัตรา 3.50-3.75% ตามอัตรารายได้ขั้นบันได
สมมติว่าในอนาคตหากมีคนใช้ไลน์ โมบายจำนวน 13 ล้านเบอร์ (เฉลี่ย 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่จากยอดรวม 40 ล้านบัญชี) และคิดโปรโมชั่นราคาถูกที่สุด ดีแทคจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปีละประมาณ 700 ล้านบาท
ในทางตรงกันข้าม หากตีความว่าไลน์ โมบาย เป็นบริการ MVNO รายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขาแรกไลน์ โมบาย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในฐานะผู้ให้บริการลูกค้า และ อีกขาหนึ่งดีแทคก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในฐานะผู้ให้เช่าคลื่นโครงข่าย ทั้งสองขา ขาละ 700 ล้านบาท เท่ากับต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเข้ารัฐปีละประมาณ 1,400 ล้านบาท
...
ได้ยินมาว่าผู้ให้บริการ MVNO หลายเจ้าก็รอดูบทสรุปกรณีนี้อยู่ โดยอาจจะเอาข้ออ้างของไลน์ โมบายมาใช้บ้าง เพื่อลดต้นทุนจ่ายค่าธรรมเนียมแค่ขาเดียว
นอกจากเรื่องรายได้แล้วยังมีประเด็น ด้านความมั่นคง ที่ค่อนข้างล่อแหลม เพราะโดยปกติการลงทะเบียนซื้อซิมมือถือทุกค่าย ผู้ซื้อจะต้องแสดงตัวตนพร้อมบัตรประชาชนต่อพนักงาน แต่ซิมไลน์ โมบาย สั่งซื้อและลงทะเบียนบนดิจิทัล โดยถ่ายรูปตัวเองและบัตรประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ได้เลย
มีข่าวในแวดวงโทรคมนาคมว่า ดีแทคนำ ข้อมูลส่วนบุคคล และ ข้อมูลการโทร.เข้าโทร.ออก ของผู้ที่ลงทะเบียนไลน์ โมบาย ไปเก็บไว้ที่ คลาวด์จากอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (เอดับบลิวเอส) ที่อยู่ต่างประเทศ
ถ้าข่าวนี้เป็นความจริง ย่อมสวนทางกับสิ่งที่ดีแทคประกาศว่า ไลน์ โมบายเป็นบริการหนึ่งของตนเอง หรือเป็นแบรนด์ที่ 2 ของดีแทค แล้วทำไมดีแทคไม่นำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไลน์ โมบายมาจัดเก็บไว้ที่คลาวด์ในประเทศไทย แต่กลับไปเช่าคลาวด์ที่ต่างประเทศจัดเก็บข้อมูล ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของผู้ใช้บริการ
ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง “มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม” ข้อ 3 ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตจะประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้โดย (1) ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการ และ (2) ต้องกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น และ (3) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ประกอบกับ ข้อ 5 ระบุว่า การส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ นอกจากปฏิบัติตามข้อ 3 แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม
ในยุครัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องความมั่นคง ก็คงไม่ยอมปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยหลุดออกไปอยู่ในมือต่างชาติได้แน่.
ลมกรด