คนรุ่นผมคุ้นเสียงเพลง ทูล ทองใจ ร้อง น้ำเหนือหลากมา ไหลบ่าพัดวนเจิ่งพ้นตลิ่ง “จำคำร้องเก่า” เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง กันได้ทั้งนั้น

กังวานแว่วหวานของคำร้องทำนอง ไม่ได้บอกนัย ความทุกข์โศกหมองเศร้าของน้ำท่วมเอาไว้ หน้าน้ำเหนือ เรียกกันว่า “หน้าน้ำ” เป็นฤดูกาลความสุขสนุกสนาน เอาด้วยซ้ำ

เอนก นาวิกมูล เขียนเรื่องเพลงพื้นบ้านกรุงเก่าไว้ในอสท.ตั้งแต่ พ.ศ.2527 สำนักพิมพ์คำ เอามารวมเล่ม “เกร็ดจากวงเพลง” พ.ศ.2555 ผมขอคัดย่อมาเล่าต่อ

คนที่ถ่ายทอดเรื่องเพลงพื้นบ้าน ยายทองหล่อ ทำเลทอง อายุ 85 ปี แม่เพลงฉ่อย ชาวบางขุนทิพย์อำเภออุทัย คำ “สมัยก่อน” ที่ยายทองหล่อใช้ เห็นจะต้องย้อนหลังไปถึง 70 ปี 100 ปี

ถึงหน้าน้ำ เดือน 11 เดือน 12 ชาวบ้านต่างลงเรือไปไหว้พระกัน ด้วยเป็นเวลาทอดกฐิน ผ้าป่า น้ำเจิ่งนองท่วมทุ่ง ไปไหนมาไหนก็อาศัยเรือกันแทบทั้งนั้น

งานวัดแต่ละงานต่างคนต่างสนุกกันเต็มที่ บ้างก็นุ่งแดงบ้างก็หุ่มเขียว เป็นลำๆ พายไปจอดกันแออัดที่หน้าวัด แลดูครึกครื้นยิ่งนัก

พวกพ่อเพลงแม่เพลงมีฉิ่งและกรับ พร้อมขนมขนูกลงเรือพายมา เรือมาดลำละ 9 คน 10 คน ลำพ่อเพลงก็มักมีแต่ผู้ชาย ลำแม่เพลงก็มักมีแต่ผู้หญิง ออกจากบ้านบ่ายหรือเย็น

ไปถึงวัดค่ำ จุดตะเกียงเจ้าพายุตะเกียงลานสว่าง จะทอดทุ่นว่าเพลงกันหน้าวัด หรือจะพายไปว่าเพลงไปก็ได้

เพลงที่ร้องในยามนั้น เพราะร้องกันในเรือ เขาเรียกกันว่า เพลงเรือ

พ่อเพลงสวมหมวกสานแม่เพลงสวมงอบ นั่งร้องกลางลำคนอื่นที่เป็นลูกคู่ช่วยพาย และร้องรับ

ธรรมเนียมเพลงเรือ ลำผู้ชายไปพบลำผู้หญิงเมื่อไร หากอยากจะเล่น ก็ต้องร้องเกี้ยวเชิญชวนกันเสียก่อน ศัพท์เพลงเรือเรียกว่า ร้องเพลงปลอบ

...

ร้องออกไปแล้ว ถ้าหญิงยอมเล่นด้วย ก็ตอบรับกลับมา ถ้าไม่เล่นด้วยก็เฉยเสีย ฝ่ายชายต้องพายไปหาลำอื่น

ธรรมเนียมเพลงเรือยังมีอีก เมื่อเพลงคู่ใดชอบใจถ้อยคำน้ำเสียง และกิริยาวาจาต่อกัน มักแลกผ้าเช็ดหน้า ผ้าสไบ และมักกระทั่งแลกแหวน เป็นของมัดจำ

นี่คือเครื่องหมายพบกันวันหน้า จะเล่นด้วยกันอีก

แม้ลำใดไปก่อน เป็นคู่เล่นกับลำอื่นอยู่ หากลำเจ้ามัดจำมาถึง ก็ต้องละมาหาคู่มัดจำเดิม

เพลงเรือสมัยนั้น มีเล่นกันดาษดื่น บ้างก็ว่าเพลงพอฟังสนุกๆ บ้างก็ว่าชนิดถึงอกถึงใจ

ถ้าเป็นระดับชั้นครู ก็มีคนมาลอยลำเกาะเรือฟังกันแน่นขนัด ทั้งฟังได้เป็นคืนๆ

คู่เรือที่เล่นดึกแล้วเลิก ธรรมเนียมเขาให้ฝ่ายชายพายเรือไปส่งฝ่ายหญิงถึงบ้าน ในคืนฟ้าโปร่งเดือนหงาย เป็นบรรยากาศที่หวานชื่นไม่น้อย ภายหลังออกพรรษาไปไม่นาน หนุ่มสาวก็ได้ออกเรือนไปหลายคู่

ความสนุกในหน้าน้ำนอกจากเรื่องรัก ยังมีกระทั่งเรื่องเรือเพลงผี เล่าไปขนลุกไป

วันเวลาผ่านมายาวนาน ลุ่มเจ้าพระยาเปลี่ยนแปลงไป นาข้าวเขียวไสว ทุ่งรวงทองสุดสายตา เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ท้องทุ่งที่เคยเป็นแก้มลิงที่พักน้ำที่ระบายน้ำ ถนนมากมาย ล้วนเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ

บ้านเรือนแบบชนบท ใต้ถุนสูงโล่ง สร้างแบบสมัยใหม่...ลานบ้านเคยจอดเรือ เป็นที่จอดรถ

ความเปลี่ยนแปลงมากมาย ฟังเพลงน้ำเหนือบ่าตอนนี้ คงไม่ไพเราะเหมือนเดิมอีกแล้ว.

กิเลน ประลองเชิง