ข้อเขียนและบทกวีหลากหลายในหนังสือ ในหลวงของเรา ในหลวงของโลก (เรือนพิมพ์แม่ชอบ มิ.ย.2560) ที่ธีรภาพ โลหิตกุล ส่งมาให้ เหมือนช่อดอกไม้แสนสวยกลิ่นหอม บูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ผมชอบใจทุกเรื่อง แต่อนุญาตถ่ายทอดต่อสองเรื่อง เรื่องต้นไม้ สองต้น...
ต้นแรก มะพร้าว ในบริเวณชุมชนชาวเล หาดราไวย์ ภูเก็ต เป็นหลักฐานสำคัญ ที่ศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษายกฟ้อง คดีพิพาทที่ดิน มีผู้อ้างหลักฐานเป็นเจ้าของที่ดิน ขับไล่ชาวเลให้ออกนอกพื้นที่
คดีนี้สู้กันมาสี่ปี ประเด็นชี้ขาดอยู่ที่ต้นมะพร้าว...สูงใหญ่ต้นนั้น ฝ่ายโจทก์ นำสืบว่า เป็นต้นมะพร้าวอายุราว 10 ปี ใช้เป็นหลักฐานอ้างสิทธิชาวเลไม่ได้
แต่ฝ่ายจำเลยยืนยันว่า มะพร้าวอยู่กับชุมชนชาวเลมานานกว่า 30 ปี โดยใช้ภาพถ่ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสหมู่บ้านเมื่อปี 2502 เป็นหลักฐาน
“ข่าวนี้ทำให้ผมน้ำตาซึม” ธีรภาพว่า “นี่ขนาดเสด็จสวรรคตแล้ว บุญญาบารมีท่านยังคงปกแผ่คนกลุ่มเล็กๆในสังคมอย่างชาวเลหาดราไวย์ให้ร่มเย็น”
ต้นที่สอง ต้นลำพู สมปอง ดวงไสว บรรยายว่า เขียนเรื่องบางลำพู ส่งไปสยามรัฐฉบับ 21 ก.ย.2540 พาดหัวข่าว “ด่วน พบต้นลำพูต้นสุดท้าย ที่บางลำพู”
หลังจากนั้นวันเดียว เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเดินทางมาขอข้อมูลเรื่องต้นลำพู ถึงกุฏิหลวงพ่อวัดสังเวชฯ
ต่อมาเมื่อ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าฯกทม. ได้เข้าเฝ้าในหลวง พระองค์ท่านรับสั่ง
“ให้ดูแลต้นลำพู อย่าให้ตาย”
สมปอง ดวงไสว บอกว่า ในห้วงหัวใจยามนั้น เพราะพระบารมี แค่นี้ต้นลำพูก็รอดแล้ว”
ปี 2546 รองนายกฯพิชัย รัตตกุล กำกับดูแลเกาะรัตนโกสินทร์ ได้เข้าเฝ้าในหลวง ก็มีรับสั่งย้ำ “ดูแลต้นลำพูให้ดี อย่าให้ตาย”
...
เรื่องราวของต้นลำพูต้นสุดท้าย สื่อทั้งหลายช่วยกันเผยแพร่
วิทยุ จส.100 สัมภาษณ์ไปออกอากาศ ศาตราจารย์ คุณหญิง เต็มสิริ บุณยสิงห์ เขียนลงใน “หญิงไทย” ซูม ฉลามเขียว เขียนลงไทยรัฐ ฯลฯ
ในงานถนนคนเดินใครต่อใครที่ไปบางลำพู ก็ตั้งใจไปดูต้นลำพู “หากมาบางลำพู ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นต้นลำพู เหมือนไม่ได้มาบางลำพูเอาจริงๆ”
แล้วก็ถึงวันนั้น พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯงานสโมสรสันนิบาต เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าฯถวาย พระที่นั่งสันติชัยปราการจำลอง ทำด้วยเงินแท้หนัก 270 บาท
ขณะทอดพระเนตรพระที่นั่งจำลอง และแผนผังสวนสันติชัยปราการ ทรงชี้ไปที่แผนผัง และตรัสกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า
“บางม่วงไม่มีมะม่วง บางกอกไม่มีมะกอก แต่บางลำพู ยังมีต้นลำพูใหญ่ต้นเก่าแก่ เมื่อจะสร้างพระที่นั่งฯ เกรงว่าจะไปบังต้นลำพู”
สมปอง ดวงไสว ยกมือพนมเหนือหัว จดบันทึกกระแส พระราชดำรัสนั้นไว้ ไม่ให้ตกหล่น
แม้ต้นไม้ต้นเล็กๆต้นเดียวต้นนี้ ยังอยู่ในพระราชหฤทัยของพระองค์ และทรงจำได้
พ.ศ.2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำริมน้ำเจ้าพระยาสองท่วมท้น ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน เกินกว่าต้นลำพูต้นนั้นจะทนทานไหว
กรกฎาคม 2554 ลำพูร้อยปีต้นสุดท้ายของบางลำพู ก็ต้องไกลบาง และจากบางลำพูไป.
กิเลน ประลองเชิง