ความทรงจำที่มีค่ายิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตผมก็คือ การได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คุณหญิง ประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานกรรมการ บริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และคณะเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทูลเกล้าฯถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิด

พระองค์ทรงมีรับสั่งกับ คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล และคณะนานพอสมควร ทรงรับสั่งหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่ผมจำมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่สังคมไทยสมัยนั้นยังไม่มีความเข้าใจพอ ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2544 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จาก เว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา ดังนี้

“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200–300 บาทขึ้นไปเป็นสองหมื่นสามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียง ไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียงคือ ทำเป็น Self–Sufficiency มันไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือ เป็น Self– Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวีก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆที่ฉันไป เขามีทีวีดู แต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเหมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนกไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ยึดหลัก ทางสายกลาง เพื่อให้การดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง ตั้งแต่ ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึง ระดับประเทศ

...

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นครั้งแรก ในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ดังนี้

“...การพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วยก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสอธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงบ่อยมากในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 ก็ทรงมีพระราชดำรัสถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่า

“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้ อาจจะมี มีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าเราต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”

นับถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง มานานถึง 43 ปีแล้ว

แต่การทำงานของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา กลับยึดเอา “จีดีพี” เป็นหลัก ทำให้ยิ่งพัฒนายิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น ผมอยากเห็นรัฐบาล ก้าวตามรอยพ่อ ยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” มาบริหารประเทศอย่างจริงจัง แล้วคนไทยทุกคนจะมีความสุขแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”