ภาษีสรรพสามิตใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2560 เป็นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งใหญ่ เปลี่ยนการเก็บภาษีจาก ราคาหน้าโรงงาน (ที่มีรูรั่วใหญ่) เป็น ราคาขายปลีก ทำให้เก็บภาษีได้เต็มเม็ดมากขึ้น โดยมีสินค้า 4 กลุ่ม ที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มยาสูบ กลุ่มรถหรูนำเข้าคันละ 10 ล้านบาทขึ้นไป

การขึ้นภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 12,000 ล้านบาท จาก เหล้าเบียร์ 5,000 ล้านบาท จาก เครื่องดื่มที่มีความหวาน 2,500 ล้านบาท จาก บุหรี่ยาสูบ 2,100 ล้านบาท จาก รถยนต์หรู 2,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆที่มีกำไรมาก

ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เก็บภาษีจากราคาขายปลีก แทนการเก็บจากราคาหน้าโรงงาน ทำให้รัฐบาลได้ภาษีตามราคาขายจริง การเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงาน ผู้ประกอบการมักจะ ตั้งราคาหน้าโรงงานต่ำมากๆ เพื่อให้เสียภาษีน้อยๆ แล้วขายปลีกในราคาแพง เพื่อเอากำไรเยอะๆ

แต่ที่ผมรู้สึกเสียดายก็คือ รัฐบาลยังคง “เห็นแก่เงินภาษี” มากกว่าเห็นแก่ “สุขภาพคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน” โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รัฐยังปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงตายเหมือนเดิม แม้จะมีการขึ้นภาษี แต่ ไม่จำกัดปริมาณสูงสุดของน้ำตาลและแอลกอฮอล์ ในเครื่องดื่มสองกลุ่มนี้

“ความหวาน” ทำให้เกิดโรคร้ายคือ โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคอ้วนนี่ต้องบอกว่า ความหวานทำให้อ้วนทันตาเห็นจริงๆ ใครไม่เชื่อลองกินขนมหวานหลายอย่างหลังอาหารเย็นดูได้ กินเสร็จไปชั่งน้ำหนักได้เลย ขึ้นเป็นกิโลทันที

องค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ให้กิน “น้ำตาล” ได้วันละไม่เกิน 6 ช้อนชา แต่จากข้อมูลของ โกลบอล อกรีคัลเจอรัล อินฟอร์เมชั่น เน็ตเวิร์ก พบว่า ปี 2557 คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 28.4 ช้อนชา สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 4.7 เท่า จึงทำให้เกิดโรคอ้วนโรคหัวใจกันมากมาย

...

ไปดู โครงสร้างภาษีความหวาน กันเสียหน่อยนะครับ

โครงสร้างเดิม ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% +ภาษีสรรพสามิตราคาหน้าโรงงาน 20% โครงสร้างใหม่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%+ภาษีสรรพสามิตราคาแนะนำ (ภาระภาษีเท่าเดิม)+ภาษีตามปริมาณน้ำตาล (อัตราก้าวหน้า 6 ระดับ) เครื่องดื่มที่มีความหวานต่ำกว่า 6 กรัมต่อ 100 มล. ไม่ต้องเสียภาษีความหวาน เครื่องดื่มที่มีความหวานตั้งแต่ 8-10 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ยิ่งมีความหวานมาก ต้องเสียภาษีมาก

แต่ที่น่าตกใจก็คือ เครื่องดื่มชา ชาเขียว กาแฟกระป๋อง น้ำอัดลม ที่วางขายอยู่ในเมืองไทย มีความหวานของน้ำตาลสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกมาก เครื่องดื่มบางชนิดมีการผสมมะนาว ทำให้ดูเหมือนดีต่อสุขภาพ แต่ใส่น้ำตาลสูงถึง 10 ช้อนชา บางชนิดใส่น้ำตาลถึง 14 ช้อนชา สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึงสองเท่า

การปรับโครงสร้างขึ้นภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ ผมจึงบอกว่า รัฐบาลงกเงิน รีดภาษีเพิ่ม 12,000 ล้านบาท แต่ให้ประชาชนเสี่ยงตายเหมือนเดิม ความจริงรัฐบาลมีอำนาจบังคับให้ผู้ประกอบการ “จำกัดปริมาณน้ำตาล” และ “ปริมาณแอลกอฮอล์” ในเครื่องดื่มเพื่อ “คุ้มครองสุขภาพของประชาชน” ได้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ กลับทำเพื่อเงิน

ผมก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติม โดยยึดเอา “สุขภาพของประชาชน” เป็นหลัก จะช่วยรัฐบาลประหยัดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตได้มหาศาล เลยทีเดียว

ไหนๆก็เดินมาถูกทางแล้ว ก็เดินไปให้สุดทางเลย อย่าเดินไปแค่ครึ่งๆกลางๆ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”