ผมขออนุญาตฝากความห่วงใยเรื่องยุทธศาสตร์ต่ออีกวันนะครับ...เป็นความห่วงใยที่เกิดขึ้น หลังจากมีเวลาว่างก็เลยนั่งอ่าน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ไปเรื่อยๆว่างั้นเถอะ
นอกจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ถึง 20 ปี จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ยาวเกินไป อะไรๆจะเปลี่ยนไปเยอะ ดังที่ผมหยิบยกมาเขียนถึงเมื่อวานนี้
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง และคงจะต้องพิจารณากันให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
มาตรา 5 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า การประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติให้ทำเป็นประกาศ “พระบรมราชโองการ” และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และ “หน่วยงานของรัฐ” ทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ
มี 2 คำที่ผมใส่เครื่องหมายคำพูดไว้ คือ “พระบรมราชโองการ” และ “หน่วยงานของรัฐ” เพื่อที่จะนำมาฝากเป็นข้อคิดสำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ รับไว้พิจารณาต่อไป
การที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับนี้จะเป็นประกาศพระบรมราชโองการ ก็จะคล้ายๆกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต่างๆ ที่ต้องมีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการเช่นกัน
เข้าใจว่าเป็นประเพณีที่จัดทำกันมานับตั้งแต่ยุคสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งประกาศใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของหน่วยราชการต่างๆ และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลแก่ประเทศชาติตามที่เขียนไว้
ในการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ก็จะประกาศทั้งเล่มโดยถือว่าตัวแผนพัฒนา เป็นเอกสารรายละเอียดแนบท้ายของพระบรมราชโองการ
ต่อมาในช่วงเวลาก่อน พ.ศ.2540 ซึ่งก็เป็นยุคที่บ้านเรากลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ มีสภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปรายที่พาดพิงมาถึงเรื่องแผนพัฒนาประเทศที่สำคัญประเด็นหนึ่ง
...
ได้แก่ประเด็นที่ว่า ที่แผนพัฒนาในช่วงดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้า เช่น ตั้งเป้าจะให้รายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่สามารถไปถึงเป้าได้ จะถือว่าผิดพระบรมราชโองการหรือไม่ และสภาพัฒน์ที่ทำหน้าที่ร่างแผนจะมีความผิดสถานใด
มีรายงานข่าวในยุคนั้นว่า สภาพัฒน์ต้องนำไปคิดเป็นการใหญ่ และทำให้ต้องมีการจัดทำเอกสารของแผนพัฒนาในส่วนที่จะประกาศเป็นพระบรมราชโองการเสียใหม่ โดยลดเป้าหมายที่เป็นตัวเลขลงไปอย่างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเช่นนี้
รายละเอียดตัวเลขทั้งหมดจะไปอยู่ในตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหญ่ที่จัดพิมพ์ขึ้นต่างหาก
ผมไม่ทราบว่าระยะหลังๆในการจัดทำแผนเศรษฐกิจและสังคม จะยังยึดแนวนี้อยู่หรือไม่ ในขั้นตอนของการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แต่ก็ขอฝากประเด็นนี้ไว้พิจารณาด้วย เพราะเคยมีการพูดกันว่าจะมีการใส่เป้าหมายที่เป็นตัวเลขเอาไว้มากมายหลายตัวเลขลงในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผมก็เกรงว่าหากไม่เป็นไปตามเป้าในอนาคต จะมีคนตั้งคำถามอีกว่าผิดพระบรมราชโองการหรือไม่อย่างไร?
สำหรับคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ที่ผมใส่เครื่องหมายคำพูดไว้ ดูแล้วก็น่าจะชัดเจนว่า แผนยุทธศาสตร์นี้จะใช้บังคับเฉพาะหน่วยราชการเท่านั้น มิได้บังคับภาคเอกชนต่างๆ
ประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยครับ เพราะดูแล้วยุทธศาสตร์ชาติที่ว่าจะใช้บังคับเฉพาะรัฐบาลก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนอื่นใด รวมตลอดถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น
ถ้าไปบังคับภาคเอกชนด้วยละก็ยุ่งแน่ๆเลย และในทางปฏิบัติก็คงจะทำไม่ได้ด้วย...มองในแง่ดีสำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็คือจะจำกัดขอบเขตไว้สำหรับภาครัฐเท่านั้น
ถ้าเกิดจะเป็น “โซ่ตรวน” อะไรขึ้นมาอย่างที่คุณบรรยงฝากความห่วงใยไว้ก็พอรับได้ ถือว่า “ล่าม” ฝ่ายราชการเอาไว้ว่างั้นเถอะ.
“ซูม”