โครงการ โรงไฟฟ้าเขื่อนสตึงมนัม 24 เมกะวัตต์ ของ กระทรวงพลังงาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่อ้างว่า เพื่อผันน้ำไปใช้ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่า 9 พันกว่าล้านบาท แต่ไม่รวมการลงทุนในโครงการต่อเนื่องอีกหลายหมื่นล้านบาท เช่น ระบบส่งน้ำจากเขื่อนมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ สายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขื่อนมาไทย การสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่เพื่อเก็บน้ำที่ผันมาจากเขื่อนสตึงมนัม
รวมเบ็ดเสร็จ อาจต้องลงทุนเป็นแสนล้านบาท เพื่อแลกกับ ไฟฟ้า 24 เมกกะวัตต์ และ น้ำฟรี 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แถมยังต้อง ฝากอนาคต EEC ไว้กับกัมพูชา อีกด้วย
ผมเขียนติงเรื่องนี้ไปสองครั้ง ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็รู้สึกโล่งอก เมื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีเกษตรฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัมของกัมพูชา เพื่อมาใช้ในภาคตะวันออก ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะ กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เห็นชอบที่จะให้ กรมชลประทาน เข้าไป สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรฯได้แล้ว ทั้งเขตอุทยานและป่าสงวน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า โครงการนี้จะบรรจุอยู่ใน แผนงบประมาณปกติปี 2561–2562 (ไม่ต้องใช้งบพิเศษ) หากสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้ จะมีน้ำเพียงพอต่อภาคการเกษตรได้ในอีก 12 ปีข้างหน้า มากกว่าน้ำที่จะผันมาจากกัมพูชาเยอะ
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่กระทบกับแผนของ กระทรวงพลังงาน ในการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าเขื่อนสตึงมนัม เป็นคนละส่วนกัน การผันน้ำของกระทรวงเกษตรฯจากเขื่อนดังกล่าวไม่ได้ผูกติดกับแผนนี้ ก็หวังว่า กระทรวงพลังงาน จะเข้าใจตรงกันนะ และไม่นำไปอ้างอีกว่า สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผันน้ำให้อีอีซี
ในขณะที่ คุณสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ก็ออกมาแถลงยืนยันเช่นเดียวกันว่า โครงการผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัมในกัมพูชา เพื่อนำมาใช้ในอีอีซี “เป็นผลพลอยได้” จากการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าเขื่อนสตึงมนัม ของ กระทรวงพลังงาน
...
ก็แสดงว่าเรื่องราวที่ กระทรวงพลังงาน กล่าวอ้างมาตลอดว่า จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนสตึงมนัม เพื่อผลิตไฟฟ้าเพียง 24 เมกะวัตต์ และขายให้ไทยในราคาแพง หน่วยละ 10.75 บาท เพื่อต้องการ “น้ำฟรี” จากกัมพูชาปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. ไปให้อีอีซีใช้ ส่วนโรงไฟฟ้าและเขื่อนถือเป็นผลพลอยได้ ก็ไม่ใช่เรื่องจริง
เรื่องราวที่ พล.อ.ฉัตรชัย รัฐมนตรีเกษตรฯ แถลง และ คุณสมเกียรติ รองอธิบดีกรมชลประทาน แถลง ตรงกันข้ามกับที่กระทรวงพลังงานแถลงตอบโต้ข้อเขียนของผม ที่เขียนติงในเรื่องนี้ ก็ต้องดูต่อไปว่า กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. จะดันทุรังสร้าง โรงไฟฟ้าเขื่อนสตึงมนัม ต่อไปหรือไม่ เพราะ หมดข้ออ้างเรื่องน้ำฟรี 300 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออีอีซีแล้ว
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ พล.อ.ฉัตรชัย และ กรมชลประทาน ที่มีมติเห็นชอบให้ สร้างอ่างเก็บน้ำของเราเอง ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนที่อุดมด้วยแหล่งน้ำ เป็นน้ำของเราเอง ไม่ต้องไปขอฟรีจากใคร วันไหนเขาไม่ให้ขึ้นมาก็ลำบาก การสร้างอ่างเก็บน้ำในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวน ไม่จำเป็นต้องสร้างเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่สร้างเป็นเขื่อนเล็กๆ อ่างเล็กๆจำนวนมากให้เข้ากับระบบนิเวศ และเชื่อมต่อทุกอ่างให้น้ำเชื่อมถึงกันหมด เพื่อป้องกันน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ลงทุนครั้งเดียวได้สองประโยชน์ และไม่ต้องไปยืมจมูกใครหายใจ
ประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป เขาก็ทำกันแบบนี้ ลงทุนไม่กี่หมื่นล้านบาท ได้อ่างได้น้ำของเราเอง ดีกว่าไปลงทุนเป็นแสนล้าน เพื่อขอน้ำฟรีจากกัมพูชาปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. ไม่รู้คิดกันได้ยังไง
ถ้ารัฐบาล มีการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ อย่างที่ กระทรวงเกษตรฯ ตกลงกับ กระทรวงทรัพยากรฯ ผมเชื่อว่า ประเทศไทยไม่มีวันขาดน้ำแน่นอน ไม่ว่าภาคตะวันออก อีอีซี หรือภาคไหนๆ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”