สำนวนโบราณ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ คล้องจอง รื่นหู สำหรับคนหัวอ่อน ว่านอนสอนง่าย ได้ยินแล้วเคลิ้ม อยากจะทำตามคำผู้ใหญ่ แต่พอใช้ความคิดจะทำตาม...ก็ไม่ง่าย
ธรรมชาติของของที่ต้องบั่น ยิ่งบั่นมันก็ยิ่งสั้นลงๆ ธรรมชาติของของที่จะต่อ ยิ่งต่อมันก็ยิ่งยาวนี่นา...
แต่ทำไมผู้ใหญ่จึงย้ำสอนนักหนา พระธรรมกถึกดัง เทศน์ เรื่องนี้ให้เด็กรุ่นผมฟังบ่อยๆ
“กาญจนาคพันธุ์” อธิบายไว้ในหนังสือสำนวนไทยว่า “สำนวนนี้เป็นสำนวนปริศนา ทำให้ตีความยาก”
เค้าสำนวนนี้มาจากฑีฆีติโกศลชาดก ในปัญจกนิบาตร มีเรื่องว่า
พระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพาราณสี ยกทัพไปตีแคว้นโกศล ...พระเจ้าฑีฆีติโกศลสู้ไม่ได้ พามเหสีหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่เมืองชายแดน ทำตัวอย่างคนสามัญ
ช่วงเวลานั้นเอง พระมเหสีซึ่งทรงครรภ์แก่ ก็ประสูติพระโอรส ชื่อทีฆาวุกุมาร
ข่าวก็เข้าหูพระเจ้าพรหมทัต สั่งให้พนักงานไปจับพระเจ้าฑีฆีติโกศล และพระมเหสีไปประหาร ฑีฆาวุกุมารเดินตามขบวน พระบิดามองเห็น ทำเป็นไม่รู้จัก เกรงโอรสจะเป็นภัย ตรัสเปรยๆ...ว่า
“ฑีฆาวุเอ๋ย อย่าเห็นแก่การยาว อย่าเห็นแก่การสั้น เวรย่อมไม่ระงับเวร เวรย่อมระงับด้วยไม่มีเวร”
คำตรัสนี้ คนอื่นฟังว่าพระเจ้าฑีฆีติเพ้อเจ้อ มีแต่ฑีฆาวุกุมารองค์เดียว ที่รู้ว่าเป็นคำสอนบิดา ให้ระงับความคิดที่จะเสี่ยงชีวิตช่วยบิดามารดา เพื่อรักษาชีวิตตัวเองต่อไป
โชคชะตาฟ้าลิขิต ฑีฆาวุกุมาร เป็นคนเฉลียวฉลาด รับราชการในราชสำนักพระเจ้าพรหมทัต จนเป็นคนรับใช้ใกล้ชิด พระเจ้าพรหมทัต เสด็จไปไหน ก็ไปด้วย
วันหนึ่งฑีฆาวุเป็นสารถีขับรถนำพระเจ้าพรหมทัตประพาสป่า ขับรถเร็วจนราชบริพารในขบวนตามไม่ทัน จนถึงต้นไทรใหญ่ในป่าลึก พระเจ้าพรหมทัตสั่งให้หยุดรถพักเหนื่อย
...
โปรดให้ฑีฆาวุกุมารนั่งลง แล้วก็ทรงเอนพระเศียรพาดตัก ...แล้วบรรทมหลับ
นาทีของการล้างแค้น ที่รอคอยมานานแสนนาน มาถึงแล้ว ฑีฆาวุเอื้อมไปหยิบพระแสงของพระเจ้าพรหมทัตออกจากฝัก ยกขึ้นตั้งท่าจะฟันให้ขาดเป็นท่อนๆ
แต่พอจะลงมือ ก็นึกถึงคำสอนพระราชบิดา อย่าเห็นแก่การยาว อย่าเห็นแก่การสั้น เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่มีเวร ก็เงื้อพระแสงค้าง
คิดจะฆ่า เลิกความคิดฆ่า กลับไปกลับมา จนกระทั่งพระเจ้าพรหมทัตตื่นบรรทม เห็นกิริยาผิดปกติของฑีฆาวุกุมาร ก็รับสั่งถาม
แทนการปกปิด ฑีฆาวุกลับสารภาพแล้วกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตประหารตัวเองเสีย
พระเจ้าพรหมทัตสั่งให้ขับรถกลับพระนคร เพิ่มความโปรดปรานฑีฆาวุกุมาร ยกระดับจากคนใกล้ชิดเป็นพระราชบุตร เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต ฑีฆาวุกุมารก็ได้สืบราชสมบัติ
จากเค้าชาดกเรื่องนี้ กาญจนาคพันธุ์ อธิบายว่า สำนวนรักยาว ให้บั่น สื่อถึงคำสอนพระเจ้าฑีฆีติโกศล แทนที่จะรักในการจองเวร ให้เลิกคิดจองเวร รักสั้นให้ต่อ คือ รักจะทำอะไรสั้นๆ ก็ไม่ควรทำ ให้คิดต่อไปให้ยืดยาว
ถ้าฑีฆาวุกุมารคิดสั้นๆ ฟันพระเจ้าพรหมทัต...ลงไปทันที โอกาสที่จะครองแคว้นพาราณสี และโอกาสที่จะได้แคว้นโกศลคืน...ก็ไม่มี
และการที่ฑีฆาวุกุมาร ได้ครองทั้งแคว้นพาราณสี แคว้นโกศล เพราะเข้าใจคำสอน รักยาวให้ต่อ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
บ้านเมืองตอนนี้ ผมอยากได้พระท่านเทศน์เรื่องนี้ อย่างน้อยก็ได้ช่วยเตือนสติพวกที่คิดสั้นๆ คิดแต่จะให้ฆ่า
การฆ่านั้นเป็นการก่อเวร...จองเวรกันไป รบกันต่อไป แล้วเมื่อไหร่จะหาเวลาสงบสุขกันได้สักที.
กิเลน ประลองเชิง