ความหวังหนึ่งของคนไทยคือการปฏิรูปการเมือง แต่การเมืองคือการจัดสรรผลประโยชน์ให้คนในสังคมได้อย่างลงตัวและเป็นธรรม มาตรการใดๆที่รัฐออกมาแล้วคนในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเดือดร้อน รัฐพึงหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม ถ้าความเป็นธรรมในสังคมยังไม่เกิด ความสงบสุขไม่มี แสงอรุณแห่งการปฏิรูปการเมืองจะมีช่องว่างสาดฉายเข้ามาได้อย่างไร

กรณีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเข้มงวดร้านค้าขายปลีก “ทุกอย่าง 20 บาท” พร้อมเตือนจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ หากพบการกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ กรณีไม่มีใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีโทษจำคุกและปรับ ส่วนเจ้าของร้านค้าที่กระทำผิดกฎหมายจะถูกจำคุกและถูกปรับเช่นกัน แต่ที่ผ่านมา สมอ.ยังไม่ได้เข้าดำเนินการจับกุม หรือดำเนินการใดๆกับผู้ประกอบการ

หลัง สมอ.ประกาศเข้มงวด ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ฝ่ายเห็นด้วยมองว่า สินค้าในร้าน “20 บาททุกอย่าง” ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมซื้อไปใช้ ได้ไม่นานก็แตกหักเสียหาย ต้องเสียเงินซื้อใหม่ และสินค้าเหล่านั้นก็หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย ไม่มีตรามาตรฐานอุตสาหกรรม ประทับ มองอีกมุมหนึ่งเท่ากับเป็นการเอาเปรียบผู้ผลิตอย่างถูกต้อง และจำเป็นต้องขายในราคาแพงกว่า

ส่วนเสียงที่ “ไม่เห็นด้วย” มีทั้งเจ้าของร้าน 20 บาท และลูกค้าประจำ กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า สินค้าบางอย่างแม้จะไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม แตกหักเสียหายได้ง่าย แต่เป็นเพียงบางอย่างที่ลูกค้าจะเลือกหรือไม่เลือกซื้อด้วยตนเองได้ และสินค้าเหล่านั้นก็เหมาะสมกับราคา ไม่ได้หมายความว่าสินค้าราคา 20 บาท จะเปราะบางเสียหายง่ายไปทั้งหมด บางอย่างก็มีคุณภาพดีไม่ต่างจากซื้อในร้านสะดวกซื้อ จึงน่าจะให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกบ้าง

...

พร้อมยกตัวอย่างเสื้อกันฝนในร้าน 20 บาท เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับร้านสะดวกซื้อ ราคาต่างกันเป็นเท่าตัว แต่คุณภาพ ไม่ต่างกัน เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว หากต้องการปกป้องผู้บริโภค ทำไมไม่ระบุชนิดออกมาให้ชัดเจนว่าสินค้าใดบ้างไร้คุณภาพ สินค้าชนิดใดบ้างมีอันตราย เพื่อให้ความรู้กับผู้ซื้อ แต่เมื่อไม่ทำก็ทำให้เกิดคำถามว่า การปกป้องผู้บริโภคนั้นจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

ยังมีเสียงโอดครวญจากผู้มีรายได้น้อย แต่มีความจำเป็นต้องซื้อของใช้เข้าบ้าน เรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์การเรียนของลูกๆ อย่างไม้บรรทัด ยางลบ ปากกาลูกลื่น รวมไปถึง สมุดรายงานและอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ของบางอย่างหากซื้อในร้านสะดวกซื้อ 1 ชิ้นเท่ากับซื้อสินค้าในร้าน 20 บาทได้เป็นโหล ดังนั้น การเข้มงวดในเรื่องนี้ย่อมส่งผลสะเทือนถึงผู้มีรายได้น้อย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ก่อนหน้านี้ รัฐเคยมีมาตรการเข้มงวดเรื่องที่นั่งส่วนหลังคนขับในรถกระบะหรือ “แค็บ” ทำให้ผู้ใช้รถกระบะซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนระดับรากหญ้าเดือดร้อน เป็นเหตุให้มีการต่อต้านประชดประชันกันต่างๆนานา ในที่สุดรัฐยอมผ่อนผันให้ ส่วนกรณีมาตรการเข้มงวด “ร้าน 20 บาท” ความปรารถนาดีของรัฐนี้ กำลังเสี่ยงต่อการถูกมองว่า ผลักคนเข้าร้านสะดวกซื้อช่วยทุนใหญ่ และทำให้คนระดับรากหญ้าเดือดร้อน.