ทั้งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เล็กกว่าไทย 12 เท่า แต่กลับส่งออก สินค้าเกษตรเป็นอันดับ 2 ของโลกได้...ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เหตุผลหลักน่าจะมาจากความสามัคคี เอาจริงเอาจัง ในมวลหมู่ชาวดัตช์เอง เกษตรกรบ้านเขาจะรวมกลุ่มกันผลิต ขาย แปรรูป กำหนดราคาเอง อีกประการ ไม่มีกระทรวงเกษตร มีแต่หน่วยงานด้านเกษตร สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เกษตรกรบ้านเขาเลยไม่มีเจ้านายมาคอยชี้นำ ซ้ายหัน ขวาหัน ถึงเวลาพืชผลราคาร่วง ก็เอาเงินมาแทรกแซงเหมือนเรา...รัฐไม่ได้ออกนโยบายมาควบคุมเกษตรกร มีหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยง คอยอำนวยความสะดวก เกษตรกรดัตช์ไม่ต้องฝากความหวังใดๆไว้กับภาครัฐ ต่างจากบ้านเรา แบมือขอจนเคยตัว

ถึงเวลาหรือยัง รัฐ เกษตรกรไทย ต้องมาคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และใช่เพราะแบบนี้หรือไม่ ไทยเลยติดอันดับต้นๆของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นรองรัสเซีย อินเดีย ที่คนรวยมีแต้มต่อเกษตรกรในทุกเรื่อง

บ้านเราแม้มีการพูดเรื่องขจัดความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จนบัดนี้มาถึงฉบับที่ 12 นับได้ 45 ปี แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงถ่างมากกว่าในอดีต

แต่น่าดีใจ ที่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มองเห็นจุดด้อยของระบบสั่งงานจากส่วนกลาง มาบังคับให้ชาวบ้านทำตาม เสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับเปลี่ยนวิธีการจาก “รัฐบอกให้ทำ” เป็น “รัฐอำนวยความสะดวก” ส่งสัญญาณให้เห็นว่า หมดยุคแล้วกับการส่งเสริมให้ปลูกอะไรตามๆกันจนเจ๊งระนาวเป็นหนี้กันทั้งประเทศ

แถมนโยบายไม่ต่อเนื่อง นายเก่าไปคนใหม่มา คิดนโยบายสร้างผลงานนับหนึ่งใหม่ไม่รู้จักจบ

...

เลยต้องการให้รัฐเปลี่ยนบทบาท ทำตัวเป็นแค่พี่เลี้ยงให้คำแนะนำปรึกษา ความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ในสิ่งที่เกษตรกรอยากทำเอง ...ไม่ใช่จ้องจะให้ทำในสิ่งที่เจ้านายอยากทำโชว์ผลงานเอาตำแหน่ง

แต่เรื่องนี้จะถึงฝั่งฝันได้แค่ไหน...ข้าราชการล่ำซำด้วยโครงการสั่งให้ทำเหวี่ยงแห จะยินยอมพร้อมใจกันรึเปล่าเท่านั้นเอง.

สะ–เล–เต