คุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิ่งที่คนทุกคนล้วนปรารถนา ซึ่งก็ควรจะมีให้สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ที่เป็นประชากรบนโลก หนึ่งในนั้นที่ไม่ควรมองข้าม และควรมอบโอกาสที่ดีให้คงเป็นกลุ่มผู้ทุพพลภาพ (ผู้พิการ) เนื่องจากเขาเหล่านั้นก็ควรมีสิทธิ์ดำเนินชีวิตได้เฉกเช่นคนปกติ
แน่นอนสิ่งที่จะมาช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์แบบในจุดนี้ได้คือ การออกแบบที่คำนึงถึงด้าน “อารยสถาปัตย์” หรือแนวคิดการออกแบบสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สิ่งของ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบๆตัวให้รองรับการใช้งานของมวลสมาชิกในสังคม
วันนี้ Business On My Way ขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับหนึ่งในบุคคลสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งการผลักดันประเทศไทยสู่อารยสถาปัตย์อย่างแท้จริง กับคุณอ๋อย “กฤษนะ ละไล” ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
คุณอ๋อยเล่าว่า อันที่จริงอารยสถาปัตย์ไม่ใช่แค่ออกแบบมาอำนวยความสะดวกให้เฉพาะผู้พิการ แต่ยังมีประโยชน์เพื่อคนทั้งมวล ไม่ว่า ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยขาหัก มนุษย์ล้อ เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบันสังคมไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็มีโอกาสได้ใช้ หากสถานที่นั้นๆมีการออกแบบด้านอารยสถาปัตย์ที่ดี
...
“หลังจากที่ผมเริ่มรณรงค์อยู่หลายปีให้ผู้คนในสังคมเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์ ก็มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หันมาให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้น ซึ่งก็มีการปรับปรุงพื้นที่ทางลาดเอียงเพื่อรถวีลแชร์ พื้นที่จอดรถ และห้องน้ำเพื่อคนทุพพลภาพมากขึ้น”
สำหรับหน่วยงานที่มีส่วนร่วมพัฒนาอารยสถาปัตย์นั้น ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานกรุงเทพมหานคร (กทม.), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเซ็นทรัล เป็นต้น ต่างก็มีส่วนช่วยพัฒนาอารยสถาปัตย์ในด้านต่างๆ
คุณอ๋อยเล่าว่า ในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็มีในหลายจังหวัดเล็งเห็นความสำคัญและพัฒนาจนได้เป็น “เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์” โดยปัจจุบันก็มีหลายจังหวัดปรับสภาพแวดล้อมให้รองรับการใช้งานของคนทั้งมวล อาทิ อ.แม่สอด ตาก, อ.เมือง น่าน, ลำปาง, เชียงใหม่, ลำพูน, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต และกรุงเทพฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯก็มีโซนบางนา ที่มีความชัดเจนในการออกแบบด้านอารยสถาปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของสำนักงานเขตบางนา วัดผ่องพลอย-วิริยาราม บางนา โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา รวมถึงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา เป็นต้น ก็นำอารยสถาปัตย์มาพัฒนาพื้นที่ให้รองรับการใช้งานของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายได้
“อีกสถานที่ที่สร้างความประทับใจในด้านการออกแบบอารยสถาปัตย์คือ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. (ปั๊ม ปตท.) ที่ปรับปรุงพื้นที่ปั๊มให้มีทางลาด ทั้งทางเข้าห้องน้ำ ร้านสะดวกซื้อภายในปั๊ม พื้นที่จอดรถเพื่อคนพิการ ห้องน้ำคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีแผนให้ปรับปรุงปั๊มทั่วประเทศ”
คุณอ๋อยยังเล่าอีกว่า จากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ทุ่มเทผลักดันให้ประเทศไทยมีอารยสถาปัตย์ ก็ทำให้เกิดการต่อยอดไปอีกขั้นกับการจัดงาน “มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล” THAILAND Friendly Design EXPO ที่จัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีหน่วยงานส่งนวัตกรรมเกี่ยวกับอารยสถาปัตย์มาร่วมแสดงผลงาน
หนึ่งในนั้นก็มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเพื่อคนพิการด้วยแอพพลิเคชั่น อีกทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพที่มาร่วมพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์ด้านอารยสถาปัตย์ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งในปีนี้ก็มีแผนจะจัดขึ้นอีกเช่นกัน
ในด้านสถานที่ท่องเที่ยวก็มีหลายแหล่งพัฒนาพื้นที่ให้มีอารยสถาปัตย์ อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ เขาพระวิหาร เป็นต้น ล่าสุดเตรียมจัดงาน Friendly Design Trip การท่องเที่ยวไทยเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งก็จัดทริปเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จะพาไปเที่ยวสวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ซึ่งทริปนี้จะเดินทางโดยรถไฟ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งรถไฟก็ได้ปรับให้มีอารยสถาปัตย์อีกด้วย
...
คุณอ๋อยเล่าทิ้งท้ายว่า ถือเป็นเรื่องราวที่ดีที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับอารยสถาปัตย์ เพราะประโยชน์ที่จะได้ไม่ใช่แค่กับผู้พิการ ผู้สูงวัย แต่จะมีส่วนช่วยพัฒนาให้เมืองไทยก้าวสู่ประเทศที่มีอารยสถาปัตย์ทัดเทียมนานาประเทศทั่วโลก.