‘บิ๊กป้อม’ คึกคัก ถกทีมปรองดอง โพลห่วงรัฐบาล

“วัฒนา” ชี้มือดีถอดหมุดผิด ป. อาญามาตรา 1 (7) ประกอบมาตรา 265 ดักทางรัฐบาลดิ้นไม่หลุดต้องรับผิดชอบซัดแสดงตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยมาตลอด นักวิชาการยันถึงไม่มีประวัติศาสตร์ก็ไม่มีทางเปลี่ยน แปลง หลานชาย “หลวงเสรีเริงฤทธิ์” นำทีมนิสิต-นศ. 3 สถาบันแจ้งความทวงคืนหมุดคณะราษฎร กระทุ้ง หน.ปชป.ก่อกำเนิดจากคณะราษฎรไม่คิดทำอะไรหรือ “มีชัย” เปิดร่าง ก.ม.พรรคการเมือง เผยหลักเกณฑ์คัดตัวผู้สมัคร ส.ส. “นิพิฏฐ์” เซ็งเป็ดเจ้ามือหวยล็อกวันเลือกตั้ง “สาธิต” ซัดยิ่งดันทุรังสืบทอดอำนาจยิ่งเสื่อมเร็ว “พิชัย” เย้ยรัฐบาลขาลงต้องรีบปรับ ครม. “สมชัย”ถอดใจเลิกยื้อ กกต.จว. โพลตอกย้ำสถานการณ์รัฐบาลน่าห่วง “บิ๊กป้อม” คึกคักเรียกถกชุดทำปรองดองหลังพักชาร์จแบต

เสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีมือดีแอบถอดหมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 จนมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลนำตัวคนกระทำมาลงโทษ และนำหมุดเก่ามาติดคืนไว้ที่เดิม ล่าสุดมีคณะบุคคลไปแจ้งความไว้ที่ สน.ดุสิต เรียกร้องให้ดำเนินการหาคนกระทำผิดมาลงโทษแล้ว

“วัฒนา” ชี้มือดีถอดหมุดผิดอาญา

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร” หมุดของคณะราษฎรอันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 จึงเป็นวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรอันถือเป็นเอกสารตามมาตรา 1 (7) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อมีการนำหมุดเดิมออกไปผู้กระทำมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ส่วนหมุดใหม่ที่ทำเลียนแบบ โดยนำเอาคำแปลพระคาถาที่ปักอยู่บนตรา “ดาราจักรี” ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์เขียนขึ้นแทนหมุดเดิม ผู้กระทำมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 265 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินคดี และไปขุดเอาหมุดที่ทำปลอมออกมาเพื่อเป็นของกลางในคดีอาญา

...

รัฐบาลดิ้นไม่หลุดต้องรับผิดชอบ

นายวัฒนาระบุว่า การที่มีบุคคลถอดหมุดคณะราษฎรออก สะท้อนให้เห็นว่าต้องการลบประวัติศาสตร์ ที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการกระทำของพวกต่อต้านประชาธิปไตยหมุดดังกล่าวถูกฝังอยู่ตรงกลางเขตพระราชฐาน แวดล้อมด้วยสถานที่ราชการด้านความมั่นคง ได้แก่ กองทัพภาคที่ 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล และทำเนียบรัฐบาล มีเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ตลอดเวลา การถอดและเปลี่ยนหมุดจึงไม่อาจทำได้หากภาครัฐไม่รู้เห็นด้วย รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ และหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ หาไม่แล้วเท่ากับรัฐบาลรู้เห็นกับฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

ลั่นภารกิจแรกในสภาล้างไพ่ คสช.

นายวัฒนาระบุด้วยว่า การแสดงตัวตรงข้ามกับประชาธิปไตยของรัฐบาลนี้มีให้เห็นมาโดยตลอด หลักฐานคือการออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพประชาชน เช่น การบังคับให้สื่อต้องมีใบอนุญาตหรือกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดการรับรู้ของประชาชน ดังนั้นภารกิจแรกที่ตนจะดำเนินการในสภาผู้แทนราษฎร คือ การยกเลิกกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้เป็นการรับสมัครแทน และยกร่างกฎหมายคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่สอดคล้องกับการปกครองคณะสงฆ์ ที่ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย

ถึงไม่มีประวัติศาสตร์ก็ไม่เปลี่ยน

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อดีตรองคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญ เป็นจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยื่นประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แต่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น แต่ผลอย่างอื่นที่ตามมา คือ การเกิดประชาธิปไตย รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีหมุดนี้ แต่ประชาธิปไตยไม่มีทางเลือนหายไปจากสังคมไทย และประวัติศาสตร์ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไป เพราะมันได้ซึมซับเข้าไปอยู่ในใจของคนไทยทุกคนแล้ว การเรียกร้องของผู้คนที่ต้องการทวงคืนกลับมาก็คงจะมีอยู่ แต่คงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรรุนแรงนัก เพราะคนส่วนใหญ่เองก็ไม่ค่อยรู้ถึงความสำคัญและการมีอยู่ของหมุดนี้เท่าไร

แจ้งความเอาหมุดคณะราษฎรคืน

ช่วงบ่ายที่ สน.ดุสิต นายพริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ อายุ 30 ปี หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์พนักงานราชการแห่งหนึ่ง (สสส.) พร้อมด้วย น.ส.ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ อายุ 19 ปี นิสิตปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.สุทธิดา วัฒนาสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตปี 3 คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และนายคุณภัทร คะชะนา อายุ 22 ปี นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าพบ ร.ต.อ.มอ ระนา รอง สว.สส. สน.ดุสิต ขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร ที่หายไป นายพริษฐ์กล่าวว่า เป็นตัวแทนมาแจ้งความเนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเราได้มีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หายไปได้อย่างไร อยู่ที่ไหน จะดำเนินการอย่างไร สุดท้ายอยากถามไปยังรุ่นพี่คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ และกำเนิดขึ้นมาโดยหนึ่งในคณะราษฎรคนหนึ่ง ท่านไม่คิดจะออกมาพูด หรือแสดงความรับผิดชอบเลยหรือ

“มีชัย” เผยเกณฑ์ส่งผู้สมัคร ส.ส.

วันเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวันที่ 18 เม.ย. ว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่ เพียงแต่ กรธ.ปรับให้พรรคใหม่กับพรรคเก่ามีความทัดเทียมกันคือ พรรคเก่าเรากำหนดว่าต้องทำเรื่องใดให้เสร็จบ้าง ถ้าไม่เสร็จก็ห้ามส่งผู้สมัคร แต่พรรคใหม่ไม่ต้องทำเพราะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องทำในการส่งผู้สมัครได้ และถ้าต้องมาทำแบบพรรคเก่าก็ถือว่าไม่ทัดเทียมกัน ตรงนี้เป็นการไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่

...

สมาชิกพรรคต้องจ่ายปีละ 100

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ กรธ. พิจารณาปรับปรุง ล่าสุดมี 10 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 142 มาตรา มีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 14 ข้อบังคับพรรค ต้องไม่มีลักษณะต่อไปนี้ (4) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่โดยอิสระของ ส.ส. มาตรา 15 ข้อบังคับพรรคอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (15) รายได้ของพรรคและอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท หรืออาจเก็บแบบตลอดชีพได้ แต่ไม่เกิน 2,000 บาท มาตรา 27 สมาชิกภาพสมาชิกสิ้นสุดเมื่อ (3) ไม่ชำระค่าบำรุงสมาชิก 2 ปีติดต่อกัน มาตรา 33 ภายใน 1 ปี นับจากนายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรค ต้องดำเนินการดังนี้ (1) ให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี (2) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่ กกต.กำหนดอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่สาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

ให้ คกก.สรรหาสกรีนคนลง ส.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนมาตรา 47 ให้พรรคที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต รับฟังความเห็นจากสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด มาตรา 49 ในการเลือกตั้งทั่วไป การส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค มาตรา 51 การกำหนดนโยบายของพรรคที่ใช้ในการโฆษณา ให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และอย่างน้อยต้องมีรายการต่อไปนี้ (1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ (2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย (3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย มาตรา 85 พรรคสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ (1) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้อง โดยพรรคต้องแก้ไขให้ครบภายใน 30 วัน นับจากได้รับแจ้งเตือนจาก กกต.หากพ้นเวลาไม่แก้ไขหรือแก้ไขไม่ถูกต้องให้พรรคสิ้นสภาพตามมาตรา 17 วรรค 3 ผู้ใดเรียกรับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค

...

ตีกรอบ 180 วัน สังคายนาพรรค

สำหรับบทเฉพาะกาล ให้พรรคการเมืองดำเนินการ ดังนี้ (1) แจ้งเปลี่ยนสมาชิกที่ต่างจากเดิมให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน (2) พรรคเดิมที่ยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ครบภายใน 180 วัน (3) ให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาทภายใน 180 วัน นับจากกฎหมายประกาศใช้ กรณีพรรคที่มีอยู่แล้วให้แจ้งนายทะเบียนทราบ (4) ให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน และให้แจ้งหลักฐานต่อ กกต. ภายใน 15 วัน (5) ให้สมาชิกพรรคชำระเงินบำรุงพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 1 ปี และให้ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี (6) ให้ประชุมใหญ่เพื่อแก้ข้อบังคับและนโยบายพรรคให้ถูกต้อง และเลือกหัวหน้า กรรมการบริหารพรรค ตามข้อบังคับ ต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคไม่น้อยกว่า 4 สาขา และมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดไม่น้อยกว่า 3 คน สำหรับจังหวัดที่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไป เข้าร่วมประชุมลงคะแนนในการแก้ไขข้อบังคับ และเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคภายใน 180 วัน (7) ตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบตามที่กำหนด ภายใน 180 วัน นับจากกฎหมายประกาศใช้ กรณีที่มีอยู่แล้วให้แจ้งต่อนายทะเบียน

สนช.ตะลอนทัวร์ทำคลอด ก.ม.ลูก

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตือนแม่น้ำ 5 สายอย่ายื้อวัน เลือกตั้งว่า เรื่องวันเวลามีระบุไว้ชัดตามโรดเเม็ป ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่า ขอความร่วมมือให้ผ่านพ้น พระราชพิธีสำคัญไปก่อน ขอให้ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม พร้อมสำหรับการหาเสียงก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง หากบรรยากาศไม่เหมาะสมคิดว่า คสช.เขาก็คงประเมิน เท่าที่พูดคุยทุกอย่างต้องเดินตามโรดเเม็ป แต่คงไม่ฟันธงวันและเวลา สนช.ไม่เคย คิดจะเตะถ่วงหรือดึงอะไร มีแต่คนอยากทำให้เสร็จลุล่วงตามหน้าที่ ล่าสุด สนช.เตรียมไปสัมมนาที่ จ.จันทบุรี วันที่ 20-21 พ.ค. เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปพิจารณาให้เสร็จที่นั่น เพราะ สนช.เตรียมทำการบ้านมาล่วงหน้าแล้วเพื่อความรวดเร็ว

...

เซ็งเจ้ามือหวยล็อกวันเลือกตั้ง

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องจะใช้เวลากับการเตรียมกฏหมายสำคัญนำไปสู่การเลือกตั้งแบบเต็มเหยียด และยาวที่สุดเท่าที่รัฐธรรมนูญเปิดให้ทำได้ เช่น หากให้เวลาทำกฎหมายลูก 240 วัน เขาก็จะใช้ 239 วัน วันนี้พรรคการเมืองจึงไม่สนแล้วว่าจะมีเลือกตั้งวันไหน เพราะผู้มีอำนาจสามารถกำหนด วันเลือกตั้งได้ ไม่ใช้เหตุผล แต่ใช้ความต้องการของเขาเป็นหลัก การตอบวันเลือกตั้งตอนนี้เหมือนซื้อหวย มันต้องนอนฝันก่อน ถ้าโดนกินงวดนี้ งวดหน้าก็ต้อง นอนสักตื่นแล้วค่อนฝันใหม่ ไม่เหมือนกับอยากรู้เวลา น้ำขึ้นน้ำลง หรือดวงอาทิตย์ตก พอจะใช้วิทยาศาสตร์คาดเดาได้ วันนี้การคาดเดาวันเลือกตั้งเหมือนถูกเจ้ามือทำหวยล็อก พอคนซื้อเลขไหนเยอะ เจ้ามือรู้ทันก็หนีไปออกเลขอื่น จึงไม่อยากคาดเดาอะไร แต่เห็นว่าโพลทุกวันนี้ประชาชนพูดถึงวันเลือกตั้ง หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็แปลกใจไม่รู้ว่าทำไมออกมาเป็นแบบนี้

“สาธิต” ซัดดันทุรังทำเสื่อมต่ำสุด

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลกับการ ประกาศวันเลือกตั้ง ทำให้เป็นปัญหาทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการไปพูดกับนานาชาติหลายครั้ง ยืนยันเรื่องโรดแม็ป แต่การบ่ายเบี่ยงไม่ชัดเจนเปลี่ยนไปเรื่อยแบบนี้ ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง ถ้ายังไม่แก้พฤติกรรมจะลำบาก เพราะ วันนี้รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ทำให้ต่างชาติมองว่า 1.ต้องการสืบทอดอำนาจ และ 2.ความน่าเชื่อถือไม่มี พูดแล้วไม่ทำตาม คนเห็นแล้วว่าไม่ได้เข้ามา เพื่อเสียสละอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ภายในองค์กรตัวเองยังมีความเคลือบแคลงสงสัย กำลังนับถอยหลังไปสู่จุดเสื่อมต่ำสุด หากรัฐบาลยังแสดงพฤติกรรมดันทุรังสืบทอดอำนาจต่อไป ไม่กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน จะทำให้เศรษฐกิจแย่ วันนี้ยังพอมีเวลากู้วิกฤติศรัทธาได้ คือต้องบอกโรดแม็ปว่าจะเลือกตั้งวันไหน กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ต้องไม่บ่ายเบี่ยงเปลี่ยนไปเรื่อย แล้วเริ่มทำเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการปราบทุจริต เริ่มที่ในองค์กรตัวเองคือทหาร และไม่ต้องไปใช้งบประมาณเพื่อประชานิยม เพราะทหารเคยพูดแล้วว่าจะไม่เล่นการเมือง หรือลงเลือกตั้ง จึงไม่ต้องทำเพื่อหวังคะแนนนิยม

พท.เหน็บโละ กกต.กลางไปเลย

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยังคงยืนยันไม่อยากให้มี กกต.จังหวัด โดยให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนว่า ที่ผ่านมา กกต.จังหวัดทำงานดีอยู่แล้ว มีข้าราชการท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ คอยให้การสนับสนุน จึงไม่อยากให้ยกเลิก ที่กังวลว่าจะใกล้ชิดนักการเมืองเกินไปนั้น เป็นการมโนไปเอง เพราะ กกต.จังหวัดไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรอยู่ที่ประชาชน หากมีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นผู้สมัครเขาก็ร้องเรียนกันเอง ที่ผ่านมาก็ออกใบเหลือง ใบแดงมาก อยากให้ผู้มีหน้าที่ร่างกฎหมายพิจารณาส่วนนี้ด้วย หากจะยกเลิก ควรยกเลิก กกต.ส่วนกลางดีกว่า เพราะคนที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งจริงๆ คือ กกต.จังหวัด และข้าราชการในพื้นที่ กกต.กลางมีหน้าที่เพียงรับรองผลการเลือกตั้ง และตรวจเยี่ยมหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น

“พิชัย” จี้ทำ 5 เรื่องก่อนเลือกตั้ง

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ รัฐบาลต้องเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง จึงอยากเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯพิจารณาดำเนินการ 5 เรื่อง ดังนี้ 1.เปิดให้มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเปิดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมการเมืองได้ จะช่วยให้ภาพพจน์ประ– เทศในสายตานักลงทุนต่างประเทศดีขึ้น 2.กำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน เพื่อนักลงทุนจะได้วางแผนการลงทุนได้ถูกต้อง ต้องไม่เลื่อนไปเลื่อนมาอีก 3.งดใช้อำนาจตามมาตรา 44 และควรทบทวนคำสั่งที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่รัฐบาลในอนาคตที่ต้องออกกฎหมายมาแก้ไข 4.ให้ข้าราชการเตรียมความพร้อมในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ หลังรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว สามารถตัดสินใจสุดท้ายและพร้อมเซ็นสัญญาได้ทันที 5.เร่งทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตประเทศ ที่ผ่านมาไม่เห็นทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ยังไม่เห็นผลงานของรัฐบาลนี้เลย

เย้ยรัฐบาลขาลงรีบปรับ ครม.

นายพิชัยกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เรื่อง รัฐบาลถังแตก โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อาลีบาบาเลือกมาเลเซีย ไปจนถึงห้ามประชาชนนั่งหลังรถกระบะ ที่รัฐบาลต้องถอยแทบทุกเรื่อง ดังนั้น โอกาสจะทำ อะไรได้อีกจึงมีน้อย ต้องรีบปรับ ครม. และเร่งให้มีเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานโดยเร็ว ส่วนตัวไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีสติปัญญาน้อยตามที่ท่านออกตัวไว้ แต่อาจขาดความรู้และประสบการณ์หลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ท่านควรเปิดใจรับฟังความเห็นรอบด้าน เพื่อนำมาพัฒนากรอบคิด หากรับฟังแต่แรกเศรษฐกิจคงไม่ย่ำแย่แบบปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันต้องแข่งขันกันด้วยความฉลาดรอบรู้ และวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่ต้องนำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

ชทพ.เล็งส่งเลือดใหม่ลงสนาม

นายนิกร จำนง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว โดยยึดตามโรดแม็ปเดิมว่า จะมีการเลือกตั้งสิ้นปี 2560 แต่เมื่อนายกฯระบุจะมีการเลือกตั้งกลางปี 2561 ก็ไม่มีปัญหา ขยับเวลาออกไปเล็กน้อย ระหว่างนี้พรรคจะเตรียมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญสำหรับการวางตัวบุคลากรลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า พรรค ชาติไทยพัฒนาจะถือเป็นพรรคการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยวางตัวให้คนรุ่นใหม่เป็นหัวหอกขับเคลื่อนการรณรงค์การเลือกตั้ง จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลง ทั่วประเทศ สำหรับตนในฐานะสมาชิก สปท. ยังทำหน้าที่เพื่อทำงานปฏิรูปสำคัญๆให้เสร็จก่อน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจากนี้ เมื่อเรียบร้อยคงกลับไป ทำหน้าที่ ผอ.พรรคเพื่อจัดการภายในพรรคต่อไป

“สมชัย” ถอดใจเลิกยื้อ กกต.จว.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง กกต.จังหวัด กกต.คงไม่ไปให้ความเห็นอะไรอีกแล้ว เป็นเรื่องของ สนช.จะพิจารณาข้อดีข้อเสีย ถ้ายึดตามร่างของ กรธ. ให้มีแค่ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง กกต.ก็พร้อม หรือจะคง กกต.จังหวัดตามเดิม ส่วนการเตรียมการเลือกตั้งยังไม่สามารถกำหนดปฏิทินว่าจะเกิดวันใด ต้องรอดูกฎหมายลูก ยังมีประเด็นที่เห็นต่างเกี่ยวกับการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 268 บัญญัติว่า หลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้วให้ กกต.ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ถ้าเราตีความโดยใช้เวลาจัดการเลือกตั้ง 150 วัน ไม่รวมระยะเวลาประกาศผล 60 วัน อาจเกิดประเด็นโต้แย้งกันได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของ กกต.เอง จึงควรตีความว่า 150 วัน หมายรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย และได้ให้แนวปฏิบัติกับสำนักงานเลขาธิการ กกต.ว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง ภายใน 90 วันนับแต่ที่ประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง

สปท.ยืนกรานยึดพิมพ์เขียวคุมสื่อ

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า กมธ.สื่อฯจะประชุมทบทวนรายละเอียดร่างกฎหมาย และต้องเสร็จภายในวันที่ 26 เม.ย. เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวิป สปท. หากวิป สปท.เห็นด้วยกับหลักการและเนื้อหา จะนำบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมใหญ่ สปท.ทันที สำหรับเนื้อหา หลักคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากจากที่นำเสนอไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่วิป สปท.ให้กมธ.สื่อฯไปปรับเนื้อหา คือ 1.ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรกลางตรวจสอบการทำงานและประเด็นจริยธรรม 2.ปรับรายละเอียดกรรมการของสภาวิชาชีพฯ โดยให้มีตัวแทนภาครัฐจำนวน 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 3.การออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

“บิ๊กป้อม” คึกคักหลังได้ชาร์จแบต

อีกเรื่อง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า วันที่ 20 เม.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เชิญคณะอนุกรรมการทั้ง 4คณะ คือคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ประชุมเพื่อสรุปข้อมูลที่ได้รับฟังมาจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาชน ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการต่อไป พล.อ.ประวิตรคงให้นโยบายเน้นย้ำการดำเนินการกับคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 เพราะต้องสรุปออกมาเป็นฉบับร่างในการทำข้อตกลงร่วมกัน ตามแผนที่วางไว้ต้องทำให้แล้วเสร็จช่วงเดือน มิ.ย. ตอนนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

โพลบอกอาการรัฐบาลน่าห่วง

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ “การเรียกร้อง/ประท้วง ณ วันนี้” พบว่า ร้อยละ 29.24 เห็นว่าสถานการณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์วันนี้ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมืองและประชาชน การใช้อำนาจตัดสินใจโดยไม่รับฟังเสียงรอบด้าน ร้อยละ 26.49 บอกว่ายังไม่น่าเป็นห่วง เพราะเชื่อมั่นนายกฯควบคุมสถานการณ์ได้ มีร้อยละ 24.88 ระบุว่าน่าเป็นห่วง เพราะถูกกดดันจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบกับประชาชน บางเรื่องอาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลกับการทำงานตามโรดแม็ป เมื่อถามว่าคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนอะไรถึงรัฐบาล ส่วนใหญ่เห็นว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป อาจเกิดการต่อต้านไม่ยอม รับ รองลงมาคือ สถานการณ์บ้านเมืองเข้มข้นมากขึ้น การทำงานของรัฐบาลเป็นที่จับตามอง ความเห็นที่ต่างกันมีผลกระทบต่อความนิยม และภาพลักษณ์รัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างเปิดกว้าง ชี้แจงเหตุผลชัดเจนตรงไปตรงมา ต้องมุ่งมั่น จริงใจ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เรียงลำดับความสำคัญปัญหาที่จะแก้ไข การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด จริงจัง เหมาะสมกับสภาพการณ์

ทบ.ปลื้มยอดสมัครทหารพุ่ง

อีกเรื่อง พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินการตรวจเลือกทหารกองประจำการปี 2560 ระหว่างวันที่ 1-12 เม.ย. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีชายไทยเข้ารับการตรวจเลือก 532,277 คน คัดเลือกไว้เป็นทหารกองประจำการ 103,097 คน มีผู้สมัครเป็นทหารถึง 50,580 คน คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยเหตุผลที่อยากเข้าเป็นทหาร อาทิ ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น การดูแลและสวัสดิการ ภาพลักษณ์ที่ดีของทหาร โดยพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กำชับให้การดูแลสมาชิกใหม่ของกองทัพอย่างดีที่สุด