ในวันที่ใครบางคนทุ่มเงินทั้งกระเป๋า เพื่อแลกกับความงดงามบนเรือนร่าง... 
ในวันที่ใครบางคนเทใจให้กับคลินิกเสริมความงาม เพียงเพราะว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต...
ในวันที่ใครบางคนยอมเจ็บเจียนตาย พร้อมขึ้นไปนอนบนเตียงคนไข้ที่ไม่ต่างอะไรจากโรงฆ่า...
และในวันที่ใครบางคนทุรนทุราย เมื่อรู้ว่าตัวเองหลงกลให้กับ “หมอเถื่อน” และ “คลินิกลวงโลก”...

“หมอเถื่อน” และ “คลินิกลวงโลก” อุทาหรณ์เตือนใจของคนรักสวยรักงามที่ปรากฏให้เห็นอยู่บนหน้าสังคมหลายต่อหลายครั้ง!

“บุกจับคลินิกเสริมความงามเถื่อน ดูดไขมันจนคนไข้ช็อก เส้นเลือดใหญ่ขาด!”
“บุกรวบหมอเถื่อนห้างดังพระราม 9 ฉีดโบทอกซ์ วิตามินซี คอลลาเจนเข้าเส้นเลือด-ใบหน้า!”
“บุกจับคลินิกลำลูกกา พบหมอเถื่อนจบม.6!”
“บุกจับคลินิกเถื่อนลดไขมัน ครูใช้บริการปอดอักเสบโคม่า”

สารพัดสารเพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า...โดยโอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ยกทุกกระบวนท่าขนมาให้คนรักสวยรักงาม การันตีไม่ตกหลุมพราง “หมอเถื่อน” และ “คลินิกลวงโลก” แน่นอน!

...

ขบวนการมืด ลอบเปิดคอร์สสอนวิชาหมอเถื่อน

แหล่งข่าวภายในกรม สบส. (ไม่ประสงค์ออกนาม) บอกเล่ากับทีมข่าวว่า กรณีของหมอเถื่อน และคลินิกลวงโลกนั้น มีขบวนการมืดที่คอยสนับสนุนการกระทำนี้อยู่​ โดยมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบทำธุรกิจเปิดคอร์สสอนการทำหัตถการประเภทต่างๆ เช่น ฉีด, เจาะ, ใช้รังสี ให้แก่ผู้ที่ต้องการเรียน

“สำหรับใครที่อยากจะเป็นหมอเถื่อน เขาก็จะมีคอร์สให้ไปเรียนเรื่องการฉีด แต่คอร์สเหล่านี้ไม่มีในประเทศไทย พอเขาเรียนเสร็จก็จะมาลองฉีดกับเพื่อนหรือญาติสนิท ซึ่งคนเหล่านี้หวังอยู่อย่างเดียวคือ รวยทางลัด” แหล่งข่าวภายในกรม สบส. ระบุ

ใจกล้า หิวเงิน! หมอเถื่อนโดนจับไม่เข็ด ลอบเปิดซ้ำไม่กลัวกฎหมาย

ทีมข่าวได้ติดต่อไปยัง นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งรองโฆษกกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า สำหรับผู้ที่แอบลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนใจกล้า และต้องการเงิน คนเหล่านี้จึงกล้าตัดสินใจกระทำความผิด

โดย นายแพทย์ภัทรพล แบ่งพฤติกรรมของคนเหล่านี้ ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. กลุ่มที่เคยทำงานร่วมกับแพทย์มาก่อน เพราะฉะนั้น พวกเขาจะมีโอกาสเห็นวิธีการทำหัตถการต่างๆ ของแพทย์ 2. กลุ่มคนที่ไม่ได้จบแพทย์ หรือจบเพียงมัธยมศึกษา 6 เท่านั้น 3. กลุ่มคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และ 4. กลุ่มคนที่กำลังเป็นนักศึกษาแพทย์

“ขณะนี้ ความนิยมด้านสุขภาพและการเสริมความงาม กำลังกลายเป็นกระแสที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น จำนวนคลินิกเถื่อน และหมอเถื่อนนั้น จึงเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค เมื่อคนยิ่งต้องการเสกความสวยความงามมากเท่าไร มิจฉาชีพก็จะโผล่ขึ้นมามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งบางคนโดนจับไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เข็ดหลาบ แอบไปเปิดคลินิกเถื่อนในพื้นที่อื่นๆ อีก” รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงสภาพปัญหา

...

ก.ม.ใหม่ เพิ่มโทษหนักคลินิกเถื่อน ส่วนหมอเถื่อน นอนคุกไม่เกิน 3 ปี

ผู้สื่อข่าวถามต่อจากประเด็นข้างต้นว่า “กรณีที่คนเหล่านี้กล้าทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจมาจากบทลงโทษทางกฎหมายที่ยังไม่หนักเท่าที่ควร หรือไม่?”

นายแพทย์ภัทรพล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า ล่าสุด สบส.ได้จัดทำ "ร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. ..."  ขึ้นใหม่ โดยปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิมคือ “พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541” ซึ่งใช้มานาน 18 ปี ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเพิ่มบทลงโทษให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ และในกรณีที่เปิดสถานพยาบาลเถื่อนโดยไม่ได้ขออนุญาตนั้น จะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเดิมจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

ส่วนผู้ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต (หมอเถื่อน) มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารราชการมีความผิดตามกฎหมายอาญา (อ้างตัวว่าเป็นแพทย์) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท

...

หากผู้ใดจำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

หากผู้ใดจำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปี 59 คลินิกเถื่อนเกลื่อนเมือง สถิติร้องเรียนพุ่งพรวด 

โดย นายแพทย์ภัทรพล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ให้ข้อมูลผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมาย ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประจำปี 2558 จำนวนทั้งสิ้น 27 คดี โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1. คลินิกเถื่อนและหมอเถื่อน จำนวน 16 คดี
2. คลินิกเถื่อน จำนวน 2 คดี
3. หมอเถื่อน จำนวน 6 คดี
4. ทำแท้ง จำนวน 1 คดี
5. ขายยาเถื่อน จำนวน 1 คดี
คำสั่งปิดส่วนให้บริการ จำนวน 1 คดี

ขณะที่ เรื่องร้องเรียนคลินิกที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ได้รับการดำเนินคดี ประจำปี 2559 นั้น มีจำนวน 37 เรื่อง โดยดำเนินการตามกฎหมาย 22 เรื่อง, ไม่มีการกระทำความผิด 11 เรื่อง และไม่มีสภาพเป็นสถานพยาบาล 3 เรื่อง และอยู่ระหว่างพิจารณา 1 เรื่อง

...

รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงวิธีการปราบ “หมอเถื่อน” และ “คลินิกลวงโลก” ไว้ว่า “ปัจจุบัน กรม สบส.มีมาตรการป้องกันปัญหาคลินิกเถื่อน และหมอเถื่อน ดังต่อไปนี้ 1. จัดอบรมพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ 2. เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังทางสื่อโซเชียลมีเดีย 3. ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกใช้สถานพยาบาลที่ถูกต้อง 4. จัดทีมเข้าไปสุ่มตรวจสถานพยาบาลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งแหล่งที่ตั้งของหมอเถื่อนและคลินิกเถื่อนนั้น ส่วนใหญ่มักอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำของเมืองไทย”

4 ข้อง่ายๆ ไม่ตาย ไม่เละ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ขณะที่ นายแพทย์ภัทรพล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่นิยมหาข้อมูลสถานเสริมความงามในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น มีทั้งจริงและเท็จปะปนกัน หากผู้ใดพลาดท่าเสียทีก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จนทำให้รูปร่างหน้าตาเสียหายจนยากที่จะแก้ไข หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น นายแพทย์ภัทรพล จึงแนะวิธีรู้เท่าทัน “หมอเถื่อน” และ “คลินิกลวงโลก” เอาไว้ ดังต่อไปนี้

1. แสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ และอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
2. ติดป้ายชื่อ ประเภทและลักษณะการให้บริการ รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการจำนวน 11 หลัก ที่ด้านหน้าสถานพยาบาล

3. ติดป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่หน้าห้องตรวจ-รักษา โดยประชาชนสามารถตรวจสอบสถานพยาบาลที่เว็บไซต์ กรม สบส. และประชาชนสามารถตรวจสอบ แพทย์ที่ทำการรักษาว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ที่เว็บไซต์ของ แพทยสภา 
4. หากมีข้อสงสัยหรือพบ “หมอเถื่อน” และ “คลินิกลวงโลก” สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เฟซบุ๊กมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน, เฟซบุ๊กสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ และสายด่วน สบส.02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง

“ความสวยไม่ได้อยู่ที่ใบหน้า แต่อยู่ที่กิริยาท่าทาง และจิตใจ
หน้าตาจะดีได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมออย่างเดียว
เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณงดงามได้อย่างแท้จริง

คือการที่คุณดูแลสุขภาพ และมีจิตใจที่ดี” 

นายแพทย์ภัทรพล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทิ้งท้าย