นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ในช่วงปี 2558/2559 การจัดทำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิต การจำหน่าย สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในต้นทุนที่ต่ำลง หลายพื้นที่มุ่งเร่งเพิ่มจำนวนปริมาณแปลงใหญ่ให้ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯกำหนดไว้ 600 แปลง ส่งผลให้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ในหลายพื้นที่เริ่มส่อเค้าปัญหา เกิดข้อผิดพลาด เกษตรกรที่รวมตัวเป็นแปลงใหญ่ ไม่มีความเข้มแข็งทั้งในการบริหาร การจัดการผลิต

“ปีที่ผ่านมาเป็นปีเริ่มต้น ทำให้ยังไม่เห็นจุดอ่อนของแปลงใหญ่ แต่หลังจากมีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ย 0.01% จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ได้ยื่นขอกู้จำนวน 381 กลุ่ม แต่ผ่านการอนุมัติแค่เพียง 53 กลุ่ม สาเหตุเพราะกลุ่มเกษตรกรไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ไม่มีการจัดรูปแบบโครงสร้างการบริหาร ทั้งเรื่องการแต่งตั้งประธานกลุ่ม สมาชิกไม่ยอมค้ำประกันซึ่งกันและกัน ที่สำคัญไม่มีแผนการผลิตที่ชัดเจน จนกลายเป็นต้นเหตุทำให้ ธ.ก.ส.อนุมัติเงินกู้ให้ไม่ได้”

...

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นายสมชาย บอกว่า ทั้งพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เดิม และพื้นที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2560 อีกจำนวน 912 แปลง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ จึงได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ต้องเริ่มจาก 3 ปัจจัยหลักคือ พื้นที่ต้องเหมาะกับการปลูกพืชตามอะกรีแม็ป (Agri-Map) แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยพืชนั้นต้องอยู่ในเขตที่วิเคราะห์เหมาะสม ต้องมีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

และแก้จุดอ่อนในเรื่องของการรวมกลุ่มกันของประชาชนที่รวมแปลงใหญ่ โดยใช้องค์กรภาคประชาชน ทั้งสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นกลุ่มถาวรมาเป็นองค์ประกอบเพื่อให้บริหารจัดการแปลงใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ ต้องมีตัวชี้วัดเสริมในด้านการตลาด โดยแปลงใหญ่ทุกแห่งต้องมีศูนย์เรียนรู้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ปรึกษาดูแลให้คำแนะนำ.