“ฉันรักพระเจ้าอยู่หัว...ฉันจะร่วมสร้างมหาวิชชาลัยตำบลให้เป็นศูนย์กลางของระบบการศึกษาใหม่” เป็นคำยืนยันที่ถือเป็น คำมั่นสัญญาของราษฎรอาวุโส “ประเวศ วะสี” ที่ต้องปลุกพลังชุมชนให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นมาร่วมกันสร้างมหาวิชชาลัยตำบลให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้คำว่า “มหาวิชชาลัย” ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก
ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระทัยมากที่จะให้เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่ปวงชน ชาวไทย นอกเหนือไปจากเรื่อง “ความเพียรอันบริสุทธิ์” แล้ว พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ยังแฝงความคิดเรื่อง “วิชชา” ไว้อย่างลึกซึ้ง วิชชา...ช ช้าง 2 ตัว เป็น คำทางพุทธศาสนาหมายถึง ปัญญา
“อวิชชา” หมายถึง ความไม่รู้ ความโง่ หรือความหลง (โมหะ) ในคำสวดปฏิจจสมุปบาทที่เราได้ยินพระสวดเป็นประจำ ดังที่เริ่มต้นว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา...ความไม่รู้เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ซึ่งจะผลักดันต่อๆไปเป็นทุกข์ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงว่า คนทั้งปวงล้วนตกอยู่ใน โมหภูมิ แล้วพากันสร้าง เมืองอวิชชา ขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่ดีต่างๆ...เมื่อทรงใช้คำว่า “มหาวิชชาลัย” ทำให้กระตุกความคิดว่า เรามีคำว่า “มหาวิทยาลัย” อยู่แล้ว ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะนำผู้คนออกจากโมหภูมิ หรือความไม่รู้
วิทยา แปลว่า ความรู้...วิชชา แปลว่า ปัญญา
ประเวศ ย้ำว่า ปัญญานั้นใหญ่กว่าความรู้ ความรู้อาจจะรู้อะไรเป็นเรื่องๆ แบบตาบอดคลำช้าง แต่ปัญญาหมายถึงรู้รอบหรือรู้ทั้งหมด รวมทั้งรู้ตัวเองด้วยการมีปัญญานำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องต่อคนอื่นและสิ่งอื่น ความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง คือ จริยธรรม เพราะฉะนั้นในปัญญาจึงมีจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ...
...
ในขณะที่ “ความรู้” ไม่แน่ว่าจะมี “จริยธรรม” ควบคู่ไปด้วย หรือ... กลับตรงข้ามก็ได้
ทั่วโลกมีมหาวิทยาลัยหรือที่อยู่แห่งความรู้มากมาย แต่โลกก็วิกฤติไม่สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข แสดงว่าวิทยาหรือความรู้ ไม่เพียงพอเสียแล้ว หรือกลับเป็นพิษเสียด้วยซ้ำ
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทรงกล่าวถึง “มหาวิชชาลัย” หรือที่อยู่แห่งปัญญาอันยิ่งใหญ่
“วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”...ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เปิดมุมมองเสริมว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “การพัฒนาสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นไปไม่รู้จบ” มีอยู่จริงหรือ?...กลับพบคำตอบนี้ที่มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข ที่ทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งบนฐานเรียนรู้ด้วยหลักวิชชา จนเกิดเป็นวิถีที่เชื่อมั่นด้วยเหตุ 3 ประการ เริ่มจาก เหตุที่ 1...เน้นที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด
โดยเปลี่ยนจาก “การสั่งการ” มาเป็น “การสร้างการมีส่วนร่วม”...“การพึ่งคนอื่น” มาเป็น “การจัดการตนเองและพึ่งพากัน”...“การใช้ทุนจากภายนอก” มาเป็น “การใช้ทุนและศักยภาพภายใน”...“กลุ่มกิจกรรม” มาเป็น “แหล่งเรียนรู้ชุมชน”...“ใช้เงินและอำนาจแก้ไขปัญหา” มาเป็น “ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา”
เหตุที่ 2 พัฒนา “คน” ไว้ให้เป็นผู้สืบสานและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ พัฒนาจาก “ประชาชน” เป็น “พลเมือง”...พัฒนาจาก “ผู้รอคอยความช่วยเหลือ” เป็น “ผู้ให้ด้วยจิตอาสา”...พัฒนาจาก “ผู้ทำ” เป็น “ผู้ถ่ายทอดสิ่งที่ทำ”...พัฒนาจาก “ผู้นำ” เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”...พัฒนาจาก “ผู้ใช้แผน” เป็น “นักจัดการแผน นักออกแบบแผนชุมชน”...พัฒนาจาก “ผู้บริหาร” เป็น “นักบริหารเชิงกลยุทธ์”
เหตุที่ 3 ใช้กระบวนการจัดการความรู้และนำใช้ข้อมูลอย่างมีเหตุผล...เป็นการระเบิดจากข้างในที่ไปสลายความรู้ในตัวตนฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ชัดแจ้งมีชีวิต สัมผัสได้ (Explicit Knowledge)
ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้มีความสัมพันธ์กับระบบความรู้ที่ว่า “ความรู้เฉพาะส่วน” มาเป็น “ความรู้ทั่ว รู้จริง ปฏิบัติได้” มีความเชื่อมั่นว่า สามารถเป็นเครื่องมือ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการ คือบรรลุเป้าหมายของงาน, การพัฒนาคน, การพัฒนาองค์กร และความเป็นชุมชน หมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกัน
ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย อธิการบดีมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข เล่าให้ฟังว่า การดำเนินงานมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข ได้ดำเนินงานภายใต้ วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้นำ กลุ่มทางสังคม องค์กรชุมชน และประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พร้อมๆไปกับเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนา...ยกระดับ ผู้นำ ทุนทางสังคม ให้เป็นทุนทางปัญญา มีความเชี่ยวชาญ...สร้างการเรียนรู้ สร้างคน สร้างงาน สร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่ โดยองค์การบริหารส่วนตำบล ดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักปรัชญา “ปั้นคน ปลูกปัญญา เปลี่ยนสังคม”
“เน้นการรู้จริง ปฏิบัติจริง กล้าทำสิ่งที่ท้าทาย นำไปสู่สังคมอุดมปัญญา...การปั้นคน คนเก่ง คนดี คนอาสา การปลูกปัญญา โดยใช้ความเพียร ความดี และความจริง ตามหลักทศพิศราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
จารุกิตรติ์ นนทธิ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว จ.สุโขทัย ผู้สำเร็จหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข และเป็น อบต.ที่ได้รับรางวัล UDHC AWARD ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น และผลงานนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดีเด่น เปิดประสบการณ์ให้ฟังว่า
...
“อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ถือเป็นต้นแบบที่มีความสำเร็จในหลายๆ ด้าน เรามีความศรัทธาในระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นองค์กรท้องถิ่นใสสะอาด มีธรรมาภิบาล และมีระบบการจัดการสุขภาวะชุมชน การได้มาเรียนรู้ในมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง”
ทัศนคติ ความคิดในการทำงาน รวมถึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการข้อมูล โดยใช้เครื่องมือของ สสส.ในการจัดเก็บข้อมูลชุมชนอย่างโปรแกรม TCNAP และเครื่องมือ RECAP ในการกำหนดแนวทางการวิจัยชุมชน เพื่อวางแผน จัดการปัญหา และจัดอันดับความสำคัญก่อนหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อก่อนเราก็ทำของเราไปตามความรู้ที่หน่วยบริหารในท้องถิ่นบอก ไม่มีต้นแบบ ไม่มีพี่เลี้ยง แต่พอมาเจอดอนแก้ว ได้เข้าไปเรียน ศึกษา เรา คิดว่า เรามาถูกทางแล้ว จากเดิมชุมชนของเราแต่เดิมมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ได้มองถึงทุนและศักยภาพที่มีของตนเอง และมิติที่เกี่ยวโยงกับเรื่องสุขภาพอื่นๆ
อาทิ การจัดการน้ำ ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในตำบล แต่เดิมที่การบริหารชุมชน เรามักใช้ความรู้สึกในการบริหารพัฒนา หรือจัดการแก้ไขปัญหา ก็ทำให้มีการคิดที่เป็นระบบ มีการใช้ฐานข้อมูลในการพัฒนา ดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ไม่ใช่ทำกิจกรรมแล้วจบไป
น่าสนใจว่าแนวทางตัวอย่างทั้งหมดข้างต้นที่ว่านี้ส่งผลให้ “ย่านยาว” เกิดนวัตกรรมชุมชน 2 เรื่องสำคัญ คือ...หมู่บ้านต้นแบบการจัดการอย่างมีส่วน และศูนย์ผู้สูงอายุสูงวัยกายใจให้เกินร้อย
“ทั้งสองกิจกรรม นอกจากจะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาขยะ และผู้สูงอายุในชุมชนได้ ยังทำให้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กัน มีความเอื้ออาทร ต่อกันด้วย” จารุกิตรติ์ยืนยัน
ประเวศ วะสี บอกอีกว่า “ชุมชนท้องถิ่น” เป็นฐานหรือที่อยู่ของชีวิต จริง ปฏิบัติจริง หรือฐานของความจริง ไม่ใช่ล่องลอยอยู่ในนภากาศ สุญญากาศ เช่น สถาบันการศึกษาต่างๆ...การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ เรียนรู้จากการปฏิบัติ เวลานี้...โลกไม่เป็น “สังคมสันติสุข” เพราะทิ้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งไปสู่...“โลภจริต”
...
“มหาวิชชาลัยตำบล” คือกุญแจสำคัญที่จะเป็นตัวตั้งเชื่อมโยงโรงเรียน สถาบันการเรียนรู้อื่นๆเข้ามาอย่างเกื้อกูลกัน เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเต็มประเทศ...โดยมีฐานอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่นอันเป็นความจริง สถานการณ์จริงและปฏิบัติการจริงประเทศไทย นี่คือการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง.