ล้าง‘พรรคการเมือง’ ครม.ประยุทธ์4เลื่อน

ปชป.-พท.รุมถล่มยับ กรธ.วางกับดักกำจัดพรรค การเมือง “องอาจ” ติงเขียนกติกาก่อปัญหาใหม่ ลิดรอนเสรีภาพประชาชน “วัชระ” เหน็บ “มีชัย” ช่างไม้ตามใบสั่ง สืบทอดอำนาจ คสช.ไม่จบสิ้น ปูดทาสรับใช้อ่อยเก้าอี้ กมธ.-ล็อบบี้ เสียงโหวตนายกฯ สะกิด “มาร์ค” อย่าพายเรือให้โจรนั่ง “ชูศักดิ์” สับ ก.ม.พรรคการเมืองขัด รธน. เพิ่มโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ ด้าน กรธ.ไม่แคร์ใครไม่ร่วมก็ไม่สน สวนนักการเมืองกลัวยาแรงอย่าทำผิด โต้เก็บค่าสมาชิกพรรคกินเบียร์ 3 ขวดร้อยยังจ่ายได้ สปท.-สนช.กล่อมแค่ต้นร่างยังปรับแก้ได้ กมธ.การเมือง สปท.ชงติดดาบ กกต. บุกค้น-จับกุมคดีทุจริตเลือกตั้งไม่ต้องมีหมาย โผ ครม. “ประยุทธ์ 4” เจอโรคเลื่อน เกลี่ยเก้าอี้บิ๊กทหารไม่ลงตัว “สมคิด” ขอนายกฯไม่ต้องผ่าตัดทีม ศก.

ขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พยายามเชิญชวนทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมเวทีสัมมนาเพื่อชี้แจงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 14 ธ.ค. แต่พรรคการเมืองใหญ่มีท่าทีชัดเจนปฏิเสธไม่ส่งคนเข้าร่วม และยังคงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

“องอาจ” จี้ 4 ข้อกระตุก กรธ.ยึดความจริง

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า การที่ฝ่ายการเมืองวิจารณ์เนื้อหากฎหมายพรรคการเมือง ทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและเพื่อตัวเองว่า ยืนยันว่าไม่ใช่ท้วงติงหรือทำเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ แต่เพื่อประโยชน์โดยรวม หลายเรื่องที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคคนอื่นท้วงติง ไม่ได้ติเรือทั้งโกลน เราอยากเห็นกฎหมายพรรคการเมืองมีส่วนทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยกลุ่มทุนหรือนายทุนพรรค เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วม แต่ กรธ.เองควรคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย จึงอยากฝากแนวทางในการร่างกฎหมายพรรคการเมือง 4 ข้อให้ กรธ. คือ 1.คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่ทำให้เป็นจริงได้ 2.ระมัดระวังการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนปัญหาเก่า 3.ระมัดระวังเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน 4.ส่งเสริมการสร้างพรรคมวลชนเชิงอุดมการณ์ ถ้า กรธ.คิดถึงทั้ง 4 ข้อนี้จะทำให้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองสมบูรณ์มากขึ้น

...

อัดเงื่อนไขหินพรรคทางเลือกเกิดยาก

นายองอาจกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กำหนดให้จัดตั้งพรรคการเมืองมีข้อจำกัดมากขึ้น และมีเงื่อนไขทางการเงินเพิ่มมากขึ้น อาจมีส่วนทำให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากตั้งพรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีน พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคคุ้มครองผู้บริโภค มีโอกาสตั้งพรรคยากขึ้นเพราะต้องใช้คนเริ่มต้นตั้งพรรค 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คน ภายใน 1 ปี และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีไม่น้อยกว่า 20,000 คน ภายใน 4 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย พรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้ากฎหมายออกมาจริงเราน่าจะปฏิบัติได้ จึงขอฝากให้ กรธ.คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่นด้วย เช่น กรณีการตั้งพรรคทางเลือกต่างๆ จึงหวังว่า กรธ.จะรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปรับแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองให้ได้รับการยอมรับ เพื่อบังคับใช้ต่อไป

“วัชระ” ฉะ “มีชัย” พูดจริงไม่หมด

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่า รัฐธรรมนูญวางกรอบให้ทุกฝ่ายอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องชอบด้วยธรรมาภิบาล ไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง นายมีชัยวางกับดักไว้ด้วยตนเองทั้งสิ้น เขียนให้อำนาจ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งการแต่งตั้ง ส.ว.ทั้งหมดและเรื่องอื่นๆ วางกรอบให้ทุกฝ่ายอยู่ในอำนาจของทหาร จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมืองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เป็นผลดีต่อทหารในอนาคต ประชาชนจะมองว่าสืบทอดอำนาจไม่จบไม่สิ้น และอยู่ยาวอีกถึง 8 ปี ที่บางคนบอกว่าการร่างกฎหมายต่างๆต้องไปถาม กรธ. คสช.ไม่เกี่ยว คงลืมไปว่านายมีชัยเป็นสมาชิก คสช.หมายเลข 14 จะบอกว่า คสช.ไม่เกี่ยวไม่ได้ คสช.ต้องการอย่างไรนายมีชัยก็มาออกกฎหมายทั้งสิ้น

เหน็บช่างไม้ตามใบสั่งสำคัญตัวผิด

นายวัชระกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายมีชัยระบุว่าเขียนกฎหมายพรรคการเมืองออกมาดี จึงถูกต่อต้านนั้น นายมีชัยสำคัญตัวผิดไป เป็นแค่คนเขียนกฎหมายตามใบสั่งให้ผู้มีอำนาจพอใจเท่านั้น เปรียบเสมือนช่างไม้รับคำสั่งทำงานตามใบสั่งเศรษฐีมหาอำนาจเท่านั้น นักการเมืองเขาเป็นนักประชาธิปไตยรู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน และในบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมืองที่นายมีชัยบัญญัติให้มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ เพราะทหารสั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ใช่หรือไม่ ข้อเท็จจริงพรรคการเมืองจะเลือกใหม่หรือไม่ แต่ละพรรคเขามีข้อบังคับพรรคกำหนดไว้อยู่แล้ว กรธ.เขียนลงไปเพื่ออะไร

สะกิด“หน.มาร์ค”อย่าพายเรือให้โจรนั่ง

“กรณีที่มี สนช.บางคนรับใช้ทหารบางนาย ระบุว่า จะให้พรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะบอกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า อย่าไปพายเรือให้โจรนั่ง นักการเมืองต้องมีศักดิ์ศรี ทระนงองอาจและภูมิใจที่เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่าไปเป็นเครื่องมือออกกฎหมายอย่างนี้ ใครที่ดูถูกนักการเมืองว่าชั่วเลวหมด แล้วยังมีคนมาล็อบบี้บอกขอให้ไปยกมือในสภาฯให้เขาเป็นนายกฯอีกหรือ นักการเมืองต้องมีศักดิ์ศรี หากนักการเมืองชั่วหมด เลวหมดแล้วจะมาขอให้นักการเมืองไป ยกมือสนับสนุนให้เป็นนายกฯได้อย่างไร” นายวัชระกล่าว

พท.ซัด ก.ม.พรรคการเมืองขัด รธน.

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับที่ผ่านประชามติกำหนดว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน แต่ร่างกฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.มีข้อจำกัด ข้อที่ต้องปฏิบัติและข้อห้ามมากมายหลายประการ มีกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินสมควรแก่เหตุ การบัญญัติกฎหมายทำนองนี้จึงน่าจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ดังนั้น จึงมีประเด็นปัญหาว่า กรธ.ต้องการจะร่างกฎหมาย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้พรรคการเมืองเจริญก้าวหน้าพัฒนาเป็นองค์กรหลักในการเชื่อมประสาน ระหว่างรัฐกับประชาชน หรือจะร่างกฎหมายนี้เพื่อควบคุมกำกับสั่งการลงโทษทำนองเดียวกับการบัญญัติกฎหมายอาญา เพื่อเอาผิดกับประชาชน

อัดเพิ่มโทษแรงเกินราวอาชญากร

นายชูศักดิ์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้การเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรค ตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคขึ้นมากกว่าเดิม และบางเรื่องเป็นนามธรรม เช่น พรรคการเมืองไม่ควบคุมให้สมาชิกปฏิบัติอยู่ในกรอบของความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี หรือกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐนั้น ตีความได้กว้างขวางและในท้ายที่สุดก็ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อยุบพรรคตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ นอกจากนี้ได้เพิ่มโทษหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคสูงไปจากเดิมและรุนแรง เช่น จำคุกตลอดชีวิต หรือกระทั่งประหารชีวิต นับได้ว่ากำหนดโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ดูเสมือนว่าผู้ที่ต้องถูกลงโทษเช่นนั้นเป็นอาชญากรร้ายแรง ต้องขจัดออกจากสังคม

แค่เป็นสมาชิกก็แหย่ขาเข้าคุก

นายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการและสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่บัญญัติให้การร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องขออนุญาตเลขาธิการ กกต. ซ้ำยังมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขมากมาย รวมทั้งบทกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากจะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วยังไปลดฐานะของสมาชิกพรรคการเมืองลงให้เป็นเสมือนพลเมืองชั้นสอง ทันทีที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากต้องเสียค่าบำรุงพรรคทุกปี เท่ากับกีดกันคนยากคนจนผู้มีรายได้น้อย และยังเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่าง มิหนำซ้ำเกิดไปเผลอทำอะไรผิดเจอโทษหนักจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามกฎหมายลูกนี้ เท่ากับเอาขาข้างหนึ่งไปอยู่ในตาราง ตกลง กรธ.คิดจะสร้างพรรคการเมืองหรือทำลายพรรคการเมืองไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันแน่

เฉ่งวางกับดักไล่ทุบพรรคสิ้นสภาพ

นายคณินกล่าวต่อว่า ในบทเฉพาะกาลให้สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน มิฉะนั้น จะพ้นสภาพสมาชิกและถ้าสมาชิกพรรคเหลือไม่ถึง 5,000 คน ให้พรรคนั้นสิ้นสภาพ เท่ากับไล่สมาชิกออกจากพรรคจนเหลือไม่ถึง 5,000 คน พรรคนั้นจะได้สิ้นสภาพและหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนโทษรุนแรงจำคุก 5-20 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตกรณีซื้อขายตำแหน่งการเมือง กรธ.เห็นว่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นอาชญากรหรืออย่างไร ถ้าอย่างนั้นจะให้มีการเลือกตั้งไปทำไม

กรธ.โต้ทีกินเบียร์ 3 ขวดร้อยจ่ายได้

วันเดียวกัน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ร่วมเวทีแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองในวันที่ 14 ธ.ค.ว่า ได้ยินมาว่ามีผู้ตอบรับ เข้าร่วมมาเยอะ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีพรรคใดบ้าง ส่วนพรรคเพื่อไทยประกาศไม่มาร่วม ใครไม่ร่วมเราไม่สนใจทำใจแล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่คอยต่อว่า แต่ต้องใช้เหตุผล ตีกันเหมือนเดิมไม่ได้ต้องจูงมือไปด้วยกัน หมดยุคทะเลาะเบาะแว้งแล้ว ไม่เห็นด้วยเรื่องไหน น่าจะเข้ามาบอกเหตุผลการคัดค้านว่าจะเกิดผลร้ายต่อประชาธิปไตยอย่างไร ส่วนกรณีพรรคการเมือง วิจารณ์การกำหนดจัดตั้งสาขาพรรค การจ่ายเงินบำรุงพรรค ไม่เข้าใจคนมีอุดมการณ์เดียวกัน ต้องส่งเสริมให้มีส่วนร่วม รวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้มิใช่หรือ เงิน 100 บาทจะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย เชื่อว่าพรรคเก่าๆไม่มีปัญหา เขากันเงินมาเป็นทุนประเดิมได้ ขนาดเบียร์ 3 ขวดร้อยกว่าบาทยังซื้อกินได้ จะทำการเมืองแล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ เรากำลังร่วมทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ไม่ต้องการให้ใครกว้านซื้อชื่อคนมารับเงินกองทุนจาก กกต.เหมือนอดีต ถ้าพรรคการเมืองยังยึดติดแบบเดิมคงไม่เหมาะสมกับยุคนี้ แบบนั้นเป็นสมัยโบราณ

สวนขยาดยาแรงก็อย่าทำผิด

เมื่อถามว่า นักการเมืองบ่นเรื่องกำหนดยาแรง เช่น กรรมการบริหารพรรคอาจต้องพ้นตำแหน่งและถูกแบน กรณีสมาชิกพรรคหรือผู้มีตำแหน่งในพรรคเกี่ยวข้องกับการโกงเลือกตั้ง นายปกรณ์กล่าวว่า หลักการกำหนดโทษคือใครผิด คนนั้นรับโทษไป ไม่มีขายเหมายุบพรรคเหมือนก่อน หลักง่ายๆ คืออย่าทำผิด ถ้าไม่ทำผิดไม่เห็นต้องกลัว เรากำหนดให้ส่งศาลเป็นผู้วินิจฉัยด้วยเพื่อความยุติธรรม โทษประหารมาจากการซื้อขายตำแหน่ง ถ้าศาลเห็นว่ารุนแรงปล่อยเอาไว้ไม่ได้ก็โดน ในประมวลกฎหมายอาญามีกำหนดโทษลักษณะนี้และเอาไว้ใช้กับข้าราชการ ที่ผ่านมาไม่เห็นมีใครบ่น แล้วนักการเมืองมาบ่นทำไม คุณเรียกร้องให้ข้าราชการปฏิรูปโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เห็นต้องเหนียมอาย จะเรียกร้องคนอื่นต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ถ้าคนบริหารพรรคทำผิด รู้กัน ปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้ง จะมาบ่นเรื่องยาแรงอีก อยากให้ประชาชนดูจับตาเอาไว้ สิ่งที่นักการเมืองพูดเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนชอบให้มีการทุจริตไหม ถ้าชอบ ไม่ต้องเอากติกาแรงแบบนี้

สปท.-สนช.กล่อมยังปรับแก้ไขได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับ เคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า หวังว่าพรรคการเมืองจะทบทวนท่าทีร่วมเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำร่างกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ ที่จำเป็นต่อการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่ปฏิบัติได้จริงและปฏิรูปได้ผล เพราะทุกพรรคการเมืองผ่านประสบการณ์ตรง รู้จุดอ่อนจุดด้อยของระบบการเมืองมากว่า 80 ปี กรธ. สนช.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง จะได้นำไปประกอบการจัดทำและพิจารณาร่างกฎหมายลูกต่อไป ร่างกฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.ยังเป็นเพียงตัวร่างที่แก้ไขได้ พรรคการเมืองเห็นตรงหรือเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญคือสัญญานความร่วมมือในการปฏิรูปประเทศไทย วันนี้ไม่ใช่เวลาของการเกี่ยงงอนหรือตั้งแง่กัน แต่เป็นเวลาของการช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ปัญหาที่พูดกันมากคือการเก็บค่าสมาชิกพรรค กรธ.มุ่งหวังให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่แค่มีชื่อก็เป็นสมาชิกได้ แต่ทุกอย่างปรับแก้ไขได้เมื่อเปิดเวทีรับฟังความเห็น พรรคใหญ่ต้องร่วมมือและควรเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่ไม่เป็นข่าวเชิญเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง

กมธ.การเมืองชงปฏิรูปศาล รธน.