ครูเคทมีลูกค้าที่น่ารักอยู่คนหนึ่ง เธอเป็นหญิงเก่งรอบตัว เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นคนมีเสน่ห์ และด้วยความเป็นคนดีมีน้ำใจกับผู้อื่นอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง เธอจึงเป็นที่รักใคร่ของคนทุกคนที่ได้รู้จักกับเธอ ครอบครัวพื้นฐานคือพ่อแม่พี่น้องของเธอก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่นสนิทสนมกัน แม้เธอจะแยกบ้านออกมาอยู่กับแฟนของเธอเป็นสิบปีแล้ว แต่เธอกับครอบครัวของเธอก็มีการพบปะสังสรรค์เฮฮากันเป็นประจำ ดูอย่างนี้แล้ว เธอน่าจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่งทีเดียว แต่สาเหตุที่เธอมาทำ counseling กับครูเคทก็เพราะเธอรู้สึกว่าบุคคลอันเป็นที่รักของเธอคือ พ่อแม่ พี่น้อง และแฟน เริ่มมีอาการน้อยอกน้อยใจเธอ และเธอต้องการที่จะดูแลทุกๆ คนให้มีความสุข เธอจึงวิ่งวุ่นกับการดูแลช่วยเหลือทุกๆ คน จนวันนี้ เธอรู้สึกเหนื่อย หมดแรง แต่ใจยังสู้ที่จะทำทุกอย่างให้กับคนที่เธอรักทุกคนต่อไป เพราะเธอมีความสุขมากเมื่อเห็นคนที่เธอรักมีความสุข
ครูเคทชอบเรียกคนลักษณะอย่างนี้ว่า “พ่อพระแม่พระ” เพราะใครๆ ที่ได้อยู่ใกล้พวกเขาจะรู้สึกดีมีความสุข เพราะพวกเขาจะคอยดูแลเอาใจใส่ในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกเขาก็ใส่ใจจนเรานึกไม่ถึง และรู้สึกซาบซึ้งด้วยน้ำใจของพวกเขา เราอาจลองมองญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเขาเราที่เป็น “พ่อพระแม่พระ” ดูบ้างก็ได้ คนกลุ่มนี้ เวลาไปไหนมาไหน เขามักจะเป็นคนบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้กับทุกคนในกลุ่ม เช่น วางแผนการเดินทางท่องเที่ยว คอยดูแลสั่งอาหารอร่อยๆ ให้ทุกคน คอยตักอาหารให้ผู้อื่นไม่ให้พร่อง เวลาไปเที่ยวเขามักจะหอบข้าวของ อุปกรณ์ต่างๆ ไปเผื่อทุกๆ คน กระเป๋าของเธอจะเหมือนกระเป๋าหน้าท้องโดเรม่อน ใครอยากได้อะไรเธอมีหมด
ปัญหาของ “พ่อพระแม่พระ” ที่พวกเขามักไม่รู้สึกตัวคือ อาการวิตกกังวลและความเครียดแอบแฝง เพราะเขาจะห่วงตลอดเวลาว่าคนที่เขารักหรือแคร์มีความสุขพอแล้วหรือยัง มีอะไรอีกบ้างที่จะทำให้คนที่เขารักมีความสุขได้มากกว่านี้ จะเห็นได้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขจากการกระทำของตนแล้ว เป็นความอิ่มใจที่ได้เห็นผู้อื่นมีความสุข แต่ถ้าเป็นความสุขที่เกิดขึ้นเพื่อตัวของเขาเองแล้ว เขาจะมีความสุขได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น หรือไม่ก็แค่โล่งใจว่าทำได้แล้ว สำเร็จแล้ว อะไรประมาณนั้น แต่ไม่หัวใจพองโตและระลึกถึงความสุขนั้นบ่อยๆ เหมือนคนทั่วไป ดังนั้น เมื่อ “พ่อพระแม่พระ” ต้องเอาใจใส่หลายๆ คนมากเกินไป พวกเขาจึงเริ่มเครียด เพราะอยากจะทำให้ดีที่สุดให้ครบสำหรับทุกคน จึงเกิดอาการนอยด์ หรือเหนื่อย ท้อใจ
...
ใครเป็นอย่างนี้ ลองขยายห้วงเวลาแห่งความสุขสำหรับตัวเองเพิ่มขึ้นสักวันละนิดวันละหน่อย (ความสุขที่ได้รับเมื่อเห็นผู้อื่นมีสุขก็ดีอยู่แล้ว ทำต่อไป แค่เพิ่มความสุขให้ตัวเองบ้าง) แต่ถ้ายังหาเวลาสุขเพื่อตัวเองไม่ได้ เพราะต้องดูแลให้คนอื่นสุขก่อน ไม่เป็นไร ทุกคืนก่อนนอน ลองนอนคิดว่าวันนี้ไปทำอะไรมาบ้าง มีช่วงเวลาอะไรที่มีความสุข หรือสบายใจสักแวบหนึ่งหรือไม่ เมื่อเจอแล้ว ให้อ้อยอิ่งอยู่ฉากนั้นอีกสักพักหนึ่ง ศัพท์วิชาการเขาเรียก soaking หรือ จุ่มแช่ ในความสุขสักพักหนึ่ง
ส่วนคุณลูกค้าผู้น่ารักของครูเคท เธอได้ทดลอง “จุ่มแช่” หรืออนุญาตให้ตัวเองอยู่กับความสุขของตัวเองเพื่อตัวเองให้นานหน่อย เริ่มจากวันละเรื่องสองเรื่อง (ในวันแรกเธอบอกว่านึกความสุขของตัวเองไม่ออกเลย แต่ถัดมาก็ค่อยนึกได้) ผ่านไปหนึ่งเดือน เธอไลน์มารายงานผลว่าตอนนี้เธอรู้สึกมีความสุขมาก ทั้งๆ ที่เธอยังดำเนินชีวิตตามปกติและวุ่นวายช่วยเหลือคนนู้นคนนี้ตามปกติ ตารางเวลาก็ยังแน่นเหมือนเดิม แต่แค่ช่วงก่อนนอนที่เธอจุ่มแช่กับความสุขในแต่ละวัน ทำให้เธอรู้สึกเหมือนเป็นผลไม้ “แช่อิ่ม” เพราะเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าเธอจะทำอะไรกับใคร จะเหนื่อยกายเพียงใด แต่ใจเธอนั้นยังเต็มอิ่มกับความรู้สึกเป็นสุขที่เธอได้ทำให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
ครูเคทเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของเธอเลยค่ะ เมื่อได้ยินคำว่า “แช่อิ่ม” เลยขออนุญาตนำคำว่าแช่อิ่มของเธอไปใช้ต่อ เพราะมันชัดเจนกว่าจุ่มแช่เสียอีก คุณผู้อ่านลองฝึกแช่อิ่มความสุขเพื่อตัวเองกันบ้างนะคะ
ใครที่มีปัญหา ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ