คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ แถลงครบ 12 ปีการหายตัวไปของ “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” ชี้กระบวนการสืบสวนล่าช้า พร้อมกดดันให้ไทยต้องสืบหาความจริงต่อไปแม้ศาลจะยกฟ้องไปแล้ว และต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสากลป้องกันการบังคับสูญหาย (อุ้มหาย) โดยด่วน พร้อมเรียกร้อง 5 ข้อ จากรบ. เร่งร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทย...

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 59 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) จัดงานแถลงข่าว เนื่องในโอกาสครบ 12 ปี การหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยระบุว่า การยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน ในคดีทนายสมชาย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นการด่วน ICJ ยืนยันว่าแม้คดีความของครอบครัวนีละไพจิตรจบลง แต่รัฐบาลไทยยังคงต้องสืบหาความจริงต่อไป

ทั้งนี้ นายแซม ซาริฟี่ ผู้อํานวยการ ICJ สํานักงานเอเชีย กล่าวว่า คําพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ได้ทําให้คดีทนายสมชายยุติลง รัฐบาลไทยยังมีพันธกรณีที่ต้องสืบหาและสอบสวนข้อเท็จจริงรวมถึงนําความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชายและครอบครัว

นอกจากนี้ ICJ ยังย้ำเตือนด้วยว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 รัฐบาลไทยได้ให้คํามันสัญญาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ว่า “จะดําเนินการอย่างสุดความสามารถและละเอียดถี่ถ้วนในการนําความยุติธรรมมาสู่คดีทนายสมชาย” ขณะนี้ ICJ รับทราบแล้วว่า กระทรวงยุติธรรมของไทยกำลังอยู่ในระหว่างยกร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งนิยามและกำหนดให้การบังคับให้สูญหายและทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญา

...

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกคนให้สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทยอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายในกรณีต่างๆ รวมถึง ผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย

พร้อมทั้ง ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายและรับประกันว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และรับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและภรรยาทนายสมชาย กล่าวว่า คําพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินว่า จําเลยทั้งห้าไม่มีความผิด และปฏิเสธสิทธิของดิฉันและลูกๆ ที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาคดี แสดงให้เห็นว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายไม่มีที่พึ่งที่จะเรียกร้องความยุติธรรมในประเทศไทย และก็เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จนกว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยด่วน รวมทั้งแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกันสิทธิของเหยื่อ