แต่ก่อนเบื่อมาก เวลาเจอใครมาเชิดหน้าและยิงคำถามใส่ รู้ไหม ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน

ดูฉลาดมากเลยจ้ะ ร้อยทั้งร้อย ณ ตอนนั้นอีคนถามก็ไม่รู้ คือถึงรู้ก็ไม่แน่ใจ เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้คนพยายามวิเคราะห์ตบตีกันมาตลอดหลายยุคสมัยเพื่อหาข้อสรุป และข่าวว่าล่าสุดโลกได้ปิดคดีนี้ไปเรียบร้อยแล้วด้วยใช่ไหมครับ ซึ่งถ้าอยากทราบรายละเอียด กรุณาเสิร์ชต่อเองในกูเกิลครับ

นั่นคือรูปแบบของปัญหาโลกแตก สองสิ่งที่เกิดมาจากเหตุการณ์เดียวกัน ต่างแค่ช่วงเวลา

จนไม่นานนี้ ผมก็เพิ่งขุดเจอปัญหา (เกือบ) โลกแตกตัวใหม่ โดยหลังทดลองถามไถ่เพื่อนฝูง ญาติเชื้อไปสองสามราย พบว่าทุกฝ่ายมีอาการสูดลมหายใจลึกๆ มองบน ลูบคางพร้อมใช้ความคิดหนักราวแปดอึดใจก่อนตอบ คำถามนั้นคือ

ท่านคิดว่าเวลาขณะกำลังรอ กับเวลาเมื่อสิ่งที่รอได้ผ่านไปแล้ว คนน่าจะชอบตอนไหนมากกว่ากัน…สามารถอ่านทวนซ้ำได้จนกว่าจะเข้าใจครับ เพราะนี่ก็เริ่มสงสัยละว่าเขียนภาษามนุษย์หรือเปล่าวะ ทำไมเข้าใจยาก

คือยังงี้ คำว่ารอคอย มักถูกโยงไปสู่เรื่องระยะเวลา นาน ไม่ดี ต้องทน ประมาณนี้ เป็นคีย์เวิร์ดที่ฟังดูไม่ค่อยโอเค เหมือนชีวิตจะช้า ติดขัด มีแต่การโหยหาตลอดไม่จบสิ้น ซึ่งความจริงก็ไม่ถึงขนาดนั้น ตารางประจำวันทุกคนต่างคลุกคลีกับการรอคอยเสมอ แค่อาจไม่รู้ตัว รอเวลาไปเรียน รอให้ร้านกาแฟเปิด รอเข้าห้องน้ำ รอถึงตอนเลิกงาน รอรถไฟฟ้า รอจ่ายเงิน รอสายสนทนา รอเธอบอกคำว่ารัก (หวายยยยยๆๆ)

ผมไม่ได้พยายามจะชวนคนอ่านหันมามองมุมกลับ ปรับมุมมองให้ลำบากแต่อย่างใด แบบว่าการรอคอยเนี่ย มันไม่แย่หรอกนะพวกเรา เพราะขึ้นอยู่กับว่ากำลังรอเรื่องอะไร แต่เป็นแค่การตั้งข้อสังเกตเล่นว่าเออ แปลกดี เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ด้วยทุกวันและทั้งวันแท้ๆ แต่ดันมีความรู้สึกต่อคำว่า “รอคอย” ไม่เท่ากันในแต่ละช่วง

ในมุมของคนที่เลือกว่าชอบตอนกำลังคอยมากกว่า ถามว่าดียังไง เหตุผลคือ มีไฟ

เดิมทีอาจใช้ชีวิตอย่างซบเซา จืดชืด ตื่นเช้าก็มาทำงาน คุยกับเพื่อน กินข้าว เลิกงาน กลับบ้าน ดูละคร นอน อูดอืดซ้ำเดิม แต่การรู้ตัวว่ากำลังรอคอยบางสิ่ง ก็เหมือนตัวช่วยกระตุ้นประเภทหนึ่ง แอ็กทีฟ อยากลุกออกไปทำนั่นนี่ มีประเด็นให้สมองตื่นตัวบ้าง เช่น นางสาวเงาะกาปฏิทินไว้ สองเดือนข้างหน้าเงาะจะไปญี่ปุ่น ตั๋วถูกเหลือเกิน ไม่ได้การ แบบนี้ต้องลาพักร้อนสักสามอาทิตย์ นับแต่นั้นมา เงาะจึงมีความสุขกับการเช็กกระทู้พันทิปทุกวัน ค้นคว้าทำการบ้านที่กินที่เที่ยว รวมถึงกระตืนรือร้นกับงานมากขึ้นผิดหูผิดตา ไม่ซึมๆ ซีดๆ อีกต่อไป เพราะมีเป้าหมายที่น่าสนุกรออยู่ (ไม่แน่ใจว่าถ้าเปลี่ยนจากเที่ยวมาเป็นโบนัส อีเงาะจะยังเบิกบานเท่านี้ไหม)

...

อีกเดือนกว่าๆ คนรักที่ไปเรียนต่อโมซัมบิกก็จะกลับมา ตื่นเต้นและตั้งตารอมาก ไม่ได้เจอตั้งสามปี ทำอะไรเซอร์ไพรส์ดี จัดบ้านใหม่ดีไหม หรือหัดทำอาหารเตรียมไว้ ซื้อดอกไม้ร้านไหน ตัดผมใหม่ดีกว่า เป็นพลังงานด้านบวกที่หลั่งไหลออกมาขณะรอ

ยังไม่นับกรณีคอยว่าเมื่อไหร่จะปิดเทอม รอวันไปดูคอนเสิร์ต รอวันเรียนจบ บลาๆ คือพอช่วงดังกล่าวมาถึง เรามีความสุข สมหวังก็จริง แต่เป็นธรรมดาเมื่อสิ่งที่เฝ้าคอยด้วยใจจดจ่อมันผ่านไปแล้ว จบแล้ว อาการที่ตามมาเสมอคือ หง่าว เหงา ฟินตกค้าง อยากหยุดโลกเพื่ออยู่กับเวลานี้ไปนานๆ เพราะแฮปปี้มาก

หลายคนพอกลับถึงบ้านจะแอบทำหน้าเซ็งๆ หลังทริปเที่ยวสิ้นสุดลง ยิ่งตอนโกยเสื้อผ้าออกจากกระเป๋าก็ยิ่งห่อเหี่ยว ความลั้นลาเป็นคนละส่วนกับความเหี่ยวที่เกิด คิดถึงพันกว่าโค้งที่ปาย คิดถึงภูเขา ขอเที่ยวตลอดไปได้ไหม (คนเป็นไกด์ส่ายหน้ารัวๆ ไม่เห็นเคยมีความคิดแบบนี้อยู่ในหัวเลย)

สองชั่วโมงในอิมแพคอารีน่ากับโอปป้ามันไม่เพียงพอต่อความคิดถึง อุตส่าห์รอมาตั้งสิบปี อยากดูถึงเช้าเลยได้รึเปล่า อยากเต้นให้ขาหัก ยังร้องเพลงไม่หนำใจ

หรือพอถึงวันที่แฟนกลับมาจริง (อีโมซัมบิกนั่นแน่ๆ) ปรากฏสถานการณ์ไม่ชื่นมื่นตามคาด ที่เซตไว้เซอร์ไพรส์ไร้ความหมาย คนรักไม่ตื่นเต้นเลย เสื้อผ้าหน้าผม บ้านช่องที่ตกแต่งถูกมองผ่านไป (คือตลอดสามปีไม่มีสิ่งไหนน่าตื่นใจเท่าการล่าเสือดาวกินอีกแล้วนั่นเอง) ถ้าดังนี้ ก็เห็นได้ชัดว่าช่วงที่รอคอยนั้นดีกว่ากันเยอะ

อ่าห์ … กรณีตัวอย่างของเราสนุกสนานและเซอร์เรียลมากมายครับ

ขณะที่คนอีกกลุ่มมองว่า ชอบตอนสิ่งที่คอยมันผ่านไปแล้วมากกว่า … มักเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีความสุขระหว่างรอ อึดอัด กดดัน สารพัดอารมณ์ด้านแย่ จนมั่นใจว่าเมื่อตอนนั้นมาถึง มันจะเปรียบเสมือนการปลดปล่อย กูต้องสุขกว่าปัจจุบันแน่นอน เชื่อสิ อาทิ นับถอยหลังเข้าห้องสอบ (รวมถึงฟังผลสอบ) รอคิวพรีเซนต์งาน เครียดเหมือนขี้จะแตก เมื่อไหร่มันจะจบ ทันทีที่สอบเสร็จ จะเล่นเกมยันเช้า ดูซีรีส์ย้อนหลังห้าสิบอีพีซ้อน นอนหลับยาวๆ ทำตัวบ้าบอให้สมกับที่ผ่านมาถูกจำกัดไม่ได้ทำ

เงินเดือนออกวันไหนล่ะก็ ลาก่อน บะหมี่ห่อสิ้นคิด ทั้งบุฟเฟ่ต์มาสี่จ่ายสาม กาแฟแก้วละสองร้อย ห้างเปิดใหม่ หนังเรื่องใหม่ คอยดู เดี๋ยวเจอกัน … รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ตฯ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต ค่าเช่าห้องด้วย

(อนึ่ง เงินเดือนก็เหมือนเมนส์ มาสามวันเดี๋ยวก็หมด)

คอยรถไฟฟ้ามาสี่ชั่วโมง เริ่มจะหงุดหงิด (ว่าแต่ทำไมใจเย็นคอยได้ตั้งสี่ชั่วโมงครับ เป็นผมจะโบกแท็กซี่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้วครับ)

ความอดทนขณะเฝ้าคอยเหล่านี้ หลายครั้งก็ถูกนำไปใช้เป็นแรงผลักดันที่ดีได้เหมือนกัน พยายามคิดถึงสิ่งที่ปรารถนาในภายหลังเข้าไว้ จะได้มีพลังฮึดสู้ ฟันฝ่าวันนี้ไปให้ได้ ดาราชั้นนำลดหุ่นเพื่อเล่นหนัง แน่นอนว่าการคุมอาหารไม่สนุกเลย ต้องออกกำลังเป็นบ้าเป็นหลัง ถามว่าแรงใจมาจากสิ่งไหน บางทีไม่มีอะไรมาก เดี๋ยวปิดกล้องเมื่อไหร่ จะกินให้ชาติล่มจมเลย ก็ถือเป็นเรื่องราวดีๆ

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบการรอ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ยิ่งแก่ยิ่งรู้สึกว่าเส้นความใจเย็นเพื่อรอคอยของตัวเองลดต่ำลงทุกที และหากมันไร้เหตุผลเกินจะรับด้วยอีกก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ซึ่งนั่นไม่เคยทำให้รู้สึกดี บ่อยครั้งก็ไม่ดีเอามากๆ ชาวบ้านพลอยจะซวยตาม กระทั่งวันหนึ่งมีคนบอก ว่าภาวะผีบ้าของผมนั้นเกิดจากจิตปรุงแต่งไปเอง คือปัญหามันมีจริงแหละ แต่ที่หนักกว่านั้นคืออารมณ์ จะถูกชักจูงไปสุดโต่งทางไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวเองทั้งนั้น (อืม ยิ่งพูดยิ่งเซน)

อธิบายให้มนุษย์ขึ้นอีกนิดคือ เราสามารถเลือกจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เพื่อเอาไว้รับมือกับความงี่เง่าจากสิ่งรอบข้างซึ่งอันนั้นอาจเลือกไม่ได้ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะรู้สึกยังไง ชอบหรือไม่ชอบการรอคอย เราก็ยังคงต้องอยู่กับมันเสมอในทุกๆ วัน ฝรั่งเรียกว่า That’s life หมายถึง ชีวิตก็งี้แหละวะ อย่าไปอินกะมันมาก

...

(เอ๊า ปลงกันดื้อๆ)