เปิดให้บริการในไทยครบรอบ 3 ปีแล้ว แต่อูเบอร์ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับรูปแบบบริการร่วมเดินทาง ถือเป็นภารกิจใหญ่ของแม่ทัพอูเบอร์ไทย…
เปิดให้บริการ "ร่วมเดินทาง" ในประเทศไทยครบรอบ 3 ปีแล้ว สำหรับ "อูเบอร์ ประเทศไทย" แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปหรือแนวทางว่าบริการแบบร่วมเดินทางลักษณะนี้จะมีกฎหมายรองรับให้ถูกต้องได้เมื่อไร
ไม่ใช่แค่ด้านกฎหมาย แต่ในแง่ของธุรกิจ "อูเบอร์" ก็มีเป้าหมายที่ต้องการฝ่าฟันและไปให้ถึง ภายใต้ภารกิจแม่ทัพหน้าใหม่ของอูเบอร์ ประเทศไทย ที่แม้จะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ราว 1 เดือน แต่ "ศิริภา จึงสวัสดิ์" ผู้จัดการประจำประเทศไทย อูเบอร์ ก็ได้กำหนดเป้าหมายให้อูเบอร์เติบโตในประเทศไทยอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงไว้แล้ว กับ 3 ภารกิจ เพื่อผลักดันอูเบอร์ให้เป็นทางเลือกการเดินทางของคนไทย...!
"ถ้าถามถึงความท้าทาย ในฐานะผู้จัดการประจำประเทศไทยมองว่า อูเบอร์ยังต้องทำการบ้านใหญ่ เพื่อสร้างการเป็นที่รู้จักและเข้าใจกับผู้บริโภค แม้จำนวนผู้ใช้งานและผู้ร่วมขับจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังต้องการให้อูเบอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่านี้"
...
ส่วน 3 ภารกิจแห่งการสร้าง! ที่ท้าทายการให้บริการของอูเบอร์ในประเทศไทย ได้แก่...
1. สร้างความแข็งแรงในระยะยาว
เพราะมุมมองที่อูเบอร์มีต่อการให้บริการ คือ การเข้ามาแก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่อูเบอร์ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของอูเบอร์ เพราะเชื่อว่าบริการร่วมเดินทางจะช่วยลดจำนวนรถบนท้องถนนส่งผลให้การจราจรลดความหนาแน่นและลดมลพิษทางอากาศ ทั้งหมดก็จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบนท้องถนน
2. เร่งสร้างความเข้าใจ
เพื่อให้ชาวไทยได้เข้าใจแนวคิดร่วมเดินทางของอูเบอร์ ไม่เปรียบเทียบกับบริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถแท็กซี่มิเตอร์ เพราะอูเบอร์เป็นบริการทางเทคโนโลยี ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศไทยมีพร้อมและค่อนข้างได้มาตรฐานอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าขณะนี้การเร่งสร้างความเข้าใจต่อคนไทยจะช่วยสร้างโอกาสให้อูเบอร์กับบริการร่วมเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง
3. สร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่ง
อีกความท้าทายของอูเบอร์คือ การสร้างคอมมูนิตี้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ร่วมขับ สร้างความสุขจากการเป็นส่วนหนึ่งของบริการอูเบอร์
"แม้ว่าขณะนี้อูเบอร์ในประเทศไทยจะยังถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เราต้องการก้าวข้ามความกังวลต่างๆ ไป แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถทำได้เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ที่เคยผ่านมาได้แล้ว และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็เชื่อว่าอูเบอร์จะได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อออกกฎหมายรองรับบริการร่วมเดินทางในเร็ววันนี้".