กูเกิลเปิดเวที StartUp Bootcamp รวมตัวสตาร์ทอัพเมืองไทยกว่า 70 ราย พร้อมพบปะนักลงทุน หวังปูทางสร้างต่อยอดสู่ธุรกิจ...

นายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า กูเกิลมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ทอัพ (ผู้ประกอบการรายใหม่) ​รายเล็กๆ ที่ริเริ่มจากโรงรถในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้กูเกิลเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่อุตสาหกรรมหรือตลาดกลุ่มใหม่ พร้อมขับเคลื่อนด้วยไอเดียและแนวคิดที่สร้างสรรค์

ปัจจัยที่มีความสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของตลาดดิจิตอล ได้แก่ 1. ความนิยมใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้จะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 59 ล้านคน 2. ความต้องการของผู้บริโภคในอุดมคติ เนื่องจากมีประชากรรุ่นใหม่และมีศักยภาพทางการเงินเพิ่มขึ้น 3. โครงสร้างด้านอินเทอร์เน็ตซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตในระดับที่ดี โดยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เมื่อเปรียบในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"จากรายงานระหว่างกูเกิลและเทมาเซ็ก (Temasek) เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจดิจิตอลในประเทศไทย ระบุว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจดังกล่าวอาจมีมูลค่าราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท) หรือในปี 2568 ตลาดดิจิตอลอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 6.5 เท่าตัวของมูลค่าตลาดในปัจจุบัน จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ"

นางสาวศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาดภาคธุรกิจประเทศไทย กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลพยายามสร้างการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพและนักลงทุน ผ่านการเวิร์กช็อปและกิจกรรมอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ยังเร่งสร้างความเข้าใจในโซลูชั่นของกูเกิล ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาผลงานของสตาร์ทอัพ ได้ใน 3 กลุ่ม อาทิ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์, คลาวด์ คอมพิวติ้ง และแผนที่

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดสตาร์ทอัพในประเทศไทยถือเป็นช่วงเริ่มต้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ เริ่มสร้าง กำลังเติบโต และสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง ซึ่งกูเกิลเปิดรับทุกกลุ่มเพื่อสานต่อการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังทั้งในส่วนของสตาร์ทอัพและนักลงทุน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันให้มีการรองรับการเติบโตในอนาคต

ส่วน นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้จัดการกองทุน 500Tuktuks (500ตุ๊กตุ๊ก) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนกับสตาร์ทอัพกว่า 30 ราย โดยมีเป้าหมายลงทุนครบ 100 ราย ภายใน 18 เดือนจากนี้

"ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่น่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีศักยภาพสูงแต่ใช้งบประมาณลงทุนเริ่มต้นไม่สูงมาก แม้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะมีความเสี่ยงล้มเหลวสูง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการค้าออนไลน์หรือสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ง่ายขึ้น ทำให้คนสนใจใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจากปี 2555 ที่เคยมีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวราว 70 ล้านบาท แต่ในปี 2559 กลับมีมูลค่าลงทุนในหลักหลายพันล้านบาท ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และอาจมีมูลค่าถึงหมื่นล้านบาทในปีนี้"

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จนั้น คือความสามารถในการตอบโจทย์และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงใจผู้บริโภค ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพก็ต้องสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีโอกาสเปิดกว้างและมีการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

ทั้งนี้ กูเกิล ยังได้จัดงาน StartUp Bootcamp ขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยกว่า 70 ราย ได้รู้จักกับบริษัทร่วมทุน 10 บริษัท โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในกลุ่มที่กำลังเติบโต (Grow) และสร้าง-เก็บเกี่ยว (Build-Earn) พร้อมทั้งรับแรงบันดาลใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้บริหารกองทุน 500ตุ๊กตุ๊ก (500Tuktuks) และผู้ให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ อุ๊คบี (OokBee), แซมิน อัน ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรจากราคูเท็น เวนเจอร์ (Rakuten Ventures) เป็นต้น มาบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์และการลงทุน โดยภายในงานดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมงานราว 200 คน.

...