ทรูร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาฯ ใช้บิ๊กดาต้าศึกษาข้อมูลการเคลื่อนที่ของคนผ่านการใช้มือถือ สะท้อนสภาพเมืองแม่นยำ เห็นคนกรุงเทพทำงาน 8–10 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติผู้สูงอายุใช้ชีวิตกระจุกตัวอยู่แถวบ้าน ขณะที่คนในเมืองใหญ่ส่วนภูมิภาค มีเวลาเหลือช่วงเย็นเพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ เพราะไม่ต้องผจญกับรถติด
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์สารสนเทศข้อมูลเมือง และหัวหน้าคณะทำงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและเชื่อมโยงกับบริบทเมืองภายใต้โปรเจกต์ “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทรู คอร์ปอเรช่ัน และ UddC เปิดเผยว่า เมืองไม่ได้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่คงที่ตลอดไป แต่มีพลวัต มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโครงสร้างกายภาพ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) ของการเคลื่อนที่ (Mobility) จากทรู เพื่อถอดรหัสชีวิต ความเคลื่อนไหวของคนและเมือง ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึก จะช่วยให้เข้าใจเมืองได้ลึกซึ้ง รอบด้านมากขึ้น โดยที่ผ่านมา UddC มีผลงานการพัฒนาเมืองหลายโครงการ เช่น โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โครงการสะพานพระปกเกล้า สกายปาร์ค
“ในอดีต การศึกษาเมืองอาศัยข้อมูลดั้งเดิม เช่น สถิติสำรวจ (Census) แบบสอบถาม หรือสังเกตการณ์ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและความแม่นยำ เปรียบได้กับการเก็บข้อมูลเป็น “ภาพนิ่ง” ข้อมูลสำมะโนประชากรที่อัปเดตทุก 10 ปี ต้องใช้เวลาสำรวจนานหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งอาจล้าสมัยเมื่อถึงเวลานำมาใช้”
ขณะที่ข้อมูลด้านการเคลื่อนที่ของประชากร หรือ Mobility Data ซึ่งเก็บจากโทรศัพท์มือถือ ทำให้มองเห็นการเดินทาง การกระจายตัวและกระจุกตัวของประชากรในแต่ละพื้นที่แบบเรียลไทม์ สามารถนำมาเทียบกับข้อมูลทางภูมิศาสตร์และทางกายภาพ เพื่อสะท้อนสภาพของเมืองได้แม่นยำขึ้น โดยข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลนิรนาม (anonymous data) สะท้อนออกมาเป็นหน่วยวิเคราะห์เป็นกริด (grid) ไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้
...
“การใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าภายใต้โปรเจกต์ดังกล่าวทำให้เราเข้าใจจังหวะชีวิตของเมืองและผู้คนใน 4 เมืองใหญ่ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา-หาดใหญ่ ภายใต้ประโยชน์สาธารณะ นำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมืองที่ดีขึ้น”
“ในการศึกษาจะเห็นช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯเข้างานมากที่สุดคือ 10.00 น. ขณะที่เชียงใหม่ ขอนแก่นอยู่ที่ 08.00 น. เนื่องด้วยคนกรุงเทพฯเดินทางไปทำงานไกลกว่า และอาจเสียเวลารถติดหรือเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน นำไปสู่แนวคิดการสร้างย่านละแวกหรือนโยบาย “เมือง 15 นาที” เพื่อลดเวลาเดินทาง”
นอกจากนั้น ข้อมูลยังบ่งชี้ว่า การทำงาน 8-10 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติของคนกรุงเทพฯ ช่วงเวลา 19.00-20.00 น. ยังเป็นเวลาอยู่ที่ทำงานหรือในละแวกที่ทำงาน ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า คนยังไม่อยากกลับบ้านเพราะรถติด หรือบ้านไกลจึงแวะกินข้าวก่อน ขณะที่ในอีก 3 เมืองภูมิภาค ช่วง 17.00 น. เป็นเวลาได้กลับบ้านเพื่อไปใช้ชีวิตในแบบอื่น
อีกตัวอย่างคือมิติด้านวัย ที่พบว่าผู้สูงอายุใช้ชีวิตกระจุกตัวอยู่ละแวกบ้านของตัวเอง ไม่ได้ออกมาในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง เช่น ถนน ทางเท้าที่ไม่เป็นมิตร เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย กลายเป็นโจทย์เชิงนโยบายเรื่อง ‘เมืองเดินได้’ (Walkable City) ขยายพื้นที่สาธารณะให้ผู้สูงวัยออกจากบ้านได้สะดวก ปลอดภัย
“สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะออกแบบเมืองหรือเมืองออกแบบชีวิตเรา เมืองและผู้คนมีอิทธิพลต่อกัน เช่น ถ้าออกแบบเมืองที่มีทางเท้ามากกว่าถนน โครงสร้างกายภาพนี้จะตีกรอบให้ผู้คนเดินมากขึ้น ในทางกลับกัน พฤติกรรมคนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมืองได้ เช่น ถ้าคนชอบไปห้างสรรพสินค้า จะมีการสร้างห้างใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าคนต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย เมืองจะถูกบังคับให้ปรับตาม”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม