“Bitcoin”..สร้างสถิติราคาสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่  ด้วยราคา 1 BTC = $97,628.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่จากระดับสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้ที่ $94,000  ดอลลาร์ สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567 ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ coinmarketcap.com

สำนักข่าว The Block รายงานว่า นอกจากแรงหนุนจากการเลือกตั้งสหรัฐฯที่ยังคงร้อนแรง และมีปัจจัยสนับสนุนอื่นเพิ่มเติม คือ การอนุมัติ Bitcoin ETF Options ที่กำลังทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโต

ซึ่งเห็นได้ว่า Bitcoin ยึดตำแหน่งของตัวเองไว้เคียงข้างหุ้น พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ในฐานะการลงทุนของสถาบันหลัก

“Bitcoin” ยังคงเป็นผู้นำในโลกของ “เงินสกุลดิจิทัล” แม้จะมีคู่แข่งใหม่ๆ และการพัฒนาของเทคโนโลยีบล็อกเชนอื่นๆอย่างต่อเนื่อง กระนั้นในปี 2567 “Bitcoin” ก็ยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งในแง่ของการปรับตัวต่อกฎหมาย การยอมรับในตลาดโลก และความผันผวนที่ยังคงเป็นจุดเด่น

ผู้สันทัดกรณีแวดวงการเงินย้ำว่า ความท้าทายสำคัญคือ เสถียรภาพ...ความผันผวนของราคาที่ยังไม่สิ้นสุด ด้วยว่า Bitcoin ยังคงมีความผันผวนสูงเนื่องจากราคาขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง แม้ว่าจะสร้างโอกาสในการเก็งกำไร แต่เป็นอุปสรรคสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

...

ตัวอย่างสำคัญ..ราคาของ Bitcoin อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่า 10% ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับการยอมรับในฐานะ “เงิน” ที่ใช้แทนเงินสด

ถัดมา..ปัจจัยด้านเทคโนโลยี การพัฒนา Lightning Network ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำธุรกรรมของ Bitcoin ลดค่าธรรมเนียมและเวลาในการยืนยันธุรกรรม น่าสนใจแต่ว่าบล็อกเชนของ Bitcoin ยังคงประสบปัญหาด้านความเร็วเมื่อเทียบกับบล็อกเชนรุ่นใหม่

สาม..การยอมรับจากสถาบันและรัฐบาล การยอมรับ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ลงทุนหรือเครื่องมือการชำระเงินยังคงเพิ่มขึ้น โดยบริษัทใหญ่ เช่น Tesla และ MicroStrategy ยังคงถือครอง Bitcoin แต่ในทางกลับกัน บางประเทศ เช่น จีน ยังคงจำกัดการใช้งาน Bitcoin อย่างเข้มงวด

หากมองในมุมบวก..โอกาสและความเป็นไปได้ “Bit coin”..เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยุคเศรษฐกิจผันผวน “Bitcoin ได้รับการเปรียบเทียบกับทองคำดิจิทัล  เนื่องจากมีอุปทานจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ Bitcoin ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอน”

อีกทั้งการพิมพ์เงินจำนวนมากโดยธนาคารกลางในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาถือครอง Bitcoin

กระนั้นแล้วยังมีความเสี่ยงและอุปสรรคสำคัญที่ต้องกังวล นั่นก็คือ ความผันผวนและการเก็งกำไร ทำให้ “Bitcoin” ยากต่อการยอมรับในฐานะสกุลเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นักเก็งกำไรยังคงครอบงำตลาด ทำให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสข่าวและการเคลื่อนไหวของตลาด

ถัดมา การโจมตีทางไซเบอร์..แม้ว่าบล็อกเชนของ Bitcoin จะปลอดภัย แต่แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนหรือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เกี่ยวข้องยังคงตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์

นับรวมไปถึง การกำกับดูแลและกฎหมาย หลายประเทศกำลังวางกรอบกฎหมายใหม่สำหรับการใช้งานและการซื้อขาย Bitcoin เช่น สหรัฐฯ กำลังพิจารณาเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในคริปโต

“กฎหมาย..ที่เข้มงวดเกินไป อาจส่งผลต่อความนิยมและการใช้งาน”

สุดท้าย..ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขุด Bitcoin ยังคงใช้ พลังงานสูง และในบางพื้นที่ การใช้ไฟฟ้าจากแหล่งที่ไม่ยั่งยืนยังคงเป็นปัญหาสำคัญ แนวโน้มในปี 2567 จึงมีความกดดันให้ผู้ขุดหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

...

ถึงตรงนี้บทสรุปมีว่า “Bitcoin” ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน แต่เสถียรภาพที่ยังคงมีความท้าทายสูงอาจทำให้การยอมรับเป็นสกุลเงินหลักยังต้องใช้เวลา ในขณะเดียวกัน โอกาสในการเป็น สินทรัพย์ลงทุนทางเลือก และ เครื่องมือชำระเงินแบบกระจายศูนย์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตอกย้ำ “Bitcoin ในปี 2567 เป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ใช่เพียงสินทรัพย์เก็งกำไร แต่เป็นรากฐานของระบบการเงินดิจิทัลในอนาคต”

 ภาพรวมในยุคที่โลกการเงินดิจิทัลพัฒนารวดเร็ว “เงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency)” เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจทั้งในแง่ของนวัตกรรมทางการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ยังคงอยู่คือ “เสถียรภาพ” ของเงินสกุลดิจิทัล และปัจจัยสำคัญต่อการยอมรับในวงกว้าง

...

หากราคาของสกุลเงินมีความผันผวนสูงเกินไป ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันและการยอมรับในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อเสถียรภาพ อาทิ ความผันผวนของราคา เงินสกุลดิจิทัล เช่น Bitcoin และ Ethereum มักเผชิญกับความผันผวนของราคาที่เกิดจากการซื้อขายในตลาดเสรี

แนวโน้มในปี 2567 หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป กำลังวางกรอบกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นสำหรับเงินสกุลดิจิทัล เพื่อควบคุมการฟอกเงินและป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน

ซึ่งมีข้อดีคือ..ช่วยเพิ่มความโปร่งใส แต่ก็มีข้อเสีย..ที่อาจจำกัดเสรีภาพในบางพื้นที่

“เงินสกุลดิจิทัล” ไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินของโลก การปรับตัวและเตรียมความพร้อม จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“อนาคตของเงินดิจิทัลขึ้นอยู่กับว่า..เราจะสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้กับระบบได้มากเพียงใด”

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

...